backup og meta

เก๊กฮวย ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เก๊กฮวย ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เก๊กฮวย หรือดอกเบญจมาศสวนซึ่งมีลักษณะดอกสีเหลือง กลีบซ้อนเป็นชั้น ๆ จัดเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มดับกระหายอย่างน้ำเก๊กฮวย และใช้เป็นยารักษาโรค อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก โดยประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ได้แก่ ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจและกระดูก ลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ และอาจมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการเมาค้างได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของเก๊กฮวย

เก๊กฮวยปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 12.2 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • ไขมัน 0.286 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 1.54 กรัม
  • ไฟเบอร์ 1.53 กรัม
  • โปรตีน 1.71 กรัม

นอกจากนี้ เก๊กฮวยยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม

ประโยชน์ของเก๊กฮวยที่มีต่อสุขภาพ

เก๊กฮวย มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเก๊กฮวยในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยบำรุงหัวใจ

เก๊กฮวยอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ดีต่อความดันโลหิต สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ไต กระดูกและอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งการได้รับโพแทสเซียมที่เพียงพออาจช่วยให้หัวใจเต้นเป็นปกติ ลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Nutrition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับโพแทสเซียมกับสุขภาพ พบว่า โพแทสเซียมเป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันความดันโลหิตสูง ส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด สุขภาพกระดูก ไตและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ควรรับประทานโพแทสเซียมในปริมาณเหมาะสม คือ 4,700 มิลลิกรัม/วัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง

  1. อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย

น้ำมันหอมระเหยจากดอกเก๊กฮวย เช่น แอลฟา-ไพนีน (α-pinene) บอร์นิลอะซิเตท (Bornyl Acetate) มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านจุลชีพ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของแบคทีเรีย

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  The Journal of Bacteriology and Virology พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากดอกเก๊กฮวยที่ต่อต้านแบคทีเรียในช่องปาก พบว่า ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากดอกเก๊กฮวยมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในช่องปาก และหากใช้น้ำมันหอมระเหยดอกเก๊กฮวยร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin) เจนตามัยซิน (Gentamicin) อาจมีประโยชน์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้มากขึ้น

  1. อาจช่วยลดการอักเสบ

สารประกอบในดอกเก๊กฮวยหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ ลูทอีโอลิน (Luteolin) ไครซานอล เอ (Chrysannol A) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ลดบวม และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกร้าย

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bioorganic & Medicinal Chemistry Letters เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบของดอกเก๊กฮวย พบว่า ดอกเก๊กฮวยมีสารประกอบหลายชนิด เช่น ไครซานอล เอ (Chrysannol A) ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบ ช่วยยับยั้งการผลิตอนุมูลอิสระอย่างไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดเนื้อร้าย

  1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูก

สารสกัดจากดอกเก๊กฮวยมีแร่ธาตุอย่างโพแสเซียม ซึ่งอาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก เสริมความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากดอกเก๊กฮวยที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูกและยับยั้งการสลายของกระดูก พบว่า สารสกัดจากดอกเก๊กฮวยอาจช่วยกระตุ้นการพัฒนากระดูก ควบคุมการสร้างกระดูกใหม่ กระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และยับยั้งการสลายของกระดูก จึงอาจเป็นไปได้ว่าสารสกัดของดอกเก๊กฮวยอาจสามารถใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกอื่น ๆ ได้

  1. มีสรรพคุณเป็นยาแก้เมาค้าง

การดื่มชาดอกเก๊กฮวยอาจช่วยแก้อาการเมาค้างจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยเผาผลาญแอลกอฮอล์และกำจัดออกจากร่างกาย รวมถึงยังอาจช่วยป้องกันตับไม่ให้เกิดความเสียหายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  International Journal of Molecular Sciences เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับผลของเครื่องดื่มบางชนิดที่มีผลต่อการเผาผลาญแอลกอฮอล์ พบว่า การดื่มโซดา ชาเขียว และชาเก๊กฮวยน้ำผึ้งสามารถเร่งการเผาผลาญแอลกอฮอล์และกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ยังอาจช่วยปกป้องตับจากความเสียหายที่เกิดจากแอลกอฮอล์

ข้อควรระวังในการบริโภคเก๊กฮวย

การบริโภคเก๊กฮวยอาจมีผลข้างเคียงและทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการแพ้ดอกเดซี่และดอกแร็กวีด (Ragweed) ก็อาจมีอาการแพ้ดอกเก๊กฮวยได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ตา จมูก ปาก รวมถึงยังอาจมีผื่นขึ้นบนผิวหนัง

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Allergy พ.ศ.  2545 ศึกษาเกี่ยวกับการแพ้เกสรดอกเก๊กฮวยในพนักงานโรงเรือน 104 คน ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า พนักงาน 56.7% มีอาการแพ้เกสรดอกเก๊กฮวย โดยมีอาการหลัก คือ โรคจมูกอักเสบ ดังนั้น เกสรของดอกเก๊กฮวยอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบทางเดินหายใจส่วนบน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2562  ศึกษาเกี่ยวกับโรคผิวหนังที่เกิดจากดอกเก๊กฮวยในร้านขายดอกไม้ พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสดอกเก๊กฮวยในร้านดอกไม้ เป็นชายชาวไทยอายุ 31 ปี มีอาการผื่นขึ้นที่หลังมือ ปลายแขน และคอเป็นเวลา 2 เดือน โดยไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคผิวหนังมาก่อน สันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากดอกเก๊กฮวยหรือดอกพุด ซึ่งจากการทดสอบผู้ป่วยแพ้สารพาร์เธโนไลด์ที่มีในดอกเก๊กฮวยและพืชในตระกูลคอมโพสิต (Compositae) เช่น ดอกทานตะวัน คอสมอส ดอกดาวเรือง คาโมมายล์ ต่อมาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดอกเก๊กฮวยจนอาการดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้เนื่องจากดอกเก๊กฮวยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพืชในตระกูลเหล่านี้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Chrysanthemum Tea. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-chrysanthemum-tea#1. Accessed September 29, 2022.

[Chrysanthemum allergy. Pt. II: Experimental studies on the causative agents]. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1090264/. Accessed September 29, 2022.

Chrysanthemum Dermatitis in a Florist: A Case Report. https://www.researchgate.net/publication/342665947_Chrysanthemum_Dermatitis_in_a_Florist_A_Case_Report. Accessed September 29, 2022.

Anti-inflammatory components of Chrysanthemum indicum flowers. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25497988/. Accessed September 29, 2022.

Dual Effect of Chrysanthemum indicum Extract to Stimulate Osteoblast Differentiation and Inhibit Osteoclast Formation and Resorption In Vitro. https://www.hindawi.com/journals/ecam/2014/176049/. Accessed September 29, 2022.

Potassium and Health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC3650509/. Accessed September 29, 2022.

Chemical Composition and Antimicrobial Activity of the Essential Oil of Chrysanthemum indicum Against Oral Bacteria. https://www.researchgate.net/publication/228644127_Chemical_Composition_and_Antimicrobial_Activity_of_the_Essential_Oil_of_Chrysanthemum_indicum_Against_Oral_Bacteria. Accessed September 29, 2022.

Effects of Beverages on Alcohol Metabolism: Potential Health Benefits and Harmful Impacts. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC4813215/. Accessed September 29, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แก้วมังกร สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 06/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา