backup og meta

เห็ดหลินจือ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดหลินจือ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหมื่นปี หรือ เห็ดจวักงู เป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมบริโภคเพื่อใช้บรรเทาอาการป่วย หรือใช้เป็นยาอายุวัฒนะมานานกว่า 4,000 ปี เติบโตได้ดีในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น เห็ดหลินจือประกอบไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุนานาชนิด เช่น โปรตีน วิตามินบีรวม วิตามินดี กรดอะมิโน สารต้านอนุมูลอิสระ ในปัจจุบัน มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นสนับสนุนว่า เห็ดหลินจือ อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น มึนงง ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 35 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • ใยอาหาร 3 กรัม
  • โปรตีน 3 กรัม
  • โพแทสเซียม 432 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 225 มิลลิกรัม
  • ทองแดง 26 มิลลิกรัม
  • แมงกานีส 22 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 7.95 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ในเห็ดหลินจือยังประกอบด้วยวิตามินบีรวม วิตามินดี สังกะสี โซเดียม แคลเซียม ซัลเฟอร์ (Sulphur)

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของเห็ดหลินจือ ดังนี้

  1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

เห็ดหลินจือมีสารนิวคลีโอไซด์ (Nucleoside) และสเตอรอล (Sterol) ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติและกลไกต้านมะเร็งของเห็ดตระกูลหลินจือ 2 ชนิด ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากเห็ดหลินจือแดงและเห็ดหลินจือม่วงต่อเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ (Myeloid leukemia) ในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดจากเห็ดหลินจือทั้ง 2 ชนิด อาจมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันเซลล์มะเร็งเพิ่มจำนวน ยับยั้งวัฏจักรของเซลล์ รวมถึงเหนี่ยวนำให้เซลล์ทำลายตัวเอง นอกจากนี้ นักวิจัยเสริมว่า คุณสมบัติต้านมะเร็งต่าง ๆ ของเห็ดตระกูลหลินจือ อาจเป็นเพราะสารสเตอรอลและนิวคลีโอไซด์ที่อยู่ในเห็ดหลินจือ

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของเห็ดหลินจือในการต้านเซลล์มะเร็ง

  1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

เห็ดหลินจือมีสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย การบริโภคเห็ดหลินจือ จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารพอลิแซ็กคาไรด์ในเห็ดหลินจือ ต่อหนูที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เผยแพร่ในวารสาร Archives of Pharmacal Research ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยแบ่งหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยกลุ่มหนึ่งให้บริโภคสารพอลิแซ็กคาไรด์ 50 กรัม/วัน ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภค 100 กรัม/วัน และอีกกลุ่มไม่บริโภคสารใด ๆ เพิ่มเติม แล้วเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงหลังทดลองครบ 7 วัน

พบว่า หนูทดลองทั้ง 2 กลุ่มที่บริโภคพอลิแซ็กคาไรด์ มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารใด ๆ เพิ่มเติม โดยหนูทดลองกลุ่มที่บริโภคพอลิแซ็กคาไรด์ 100 กรัม/วัน มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มที่บริโภคสารพอลิแซ็กคาไรด์ 50 กรัม/วัน

ทั้งนี้ ยังเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติของเห็ดหลินจือในการช่วยลดน้ำตาลในเลือด

  1. อาจช่วยบรรเทาความอ่อนล้าได้

สปอร์ของเห็ดหลินจืออาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ มีส่วนในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างพลังงาน การบริโภคเห็ดหลินจือจึงอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการอ่อนล้าเรื้อรังได้

การศึกษานำร่องชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของผงสปอร์เห็ดหลินจือในการช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าจากโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับการรักษาด้วยฮอร์โมน ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยสุ่มให้อาสาสมัครบางรายจากจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดจำนวน 48 รายซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเต้านม บริโภคผงสปอร์เห็ดหลินจือเป็นเวลา 48 สัปดาห์ แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ที่บริโภคผงสปอร์เห็ดหลินจือและผู้ที่ไม่ได้บริโภคผ่านการทำแบบสอบถาม

ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่บริโภคเห็ดหลินจือ มีอาการดีขึ้นจากภาวะอ่อนล้า ภาวะซึมเศร้า และคุณภาพชีวิตดีขึ้น นักวิจัยจึงสรุปว่า ผงสปอร์เห็ดหลินจือ อาจมีประโยชน์ในการช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าจากโรคมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยฮอร์โมนโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์

  1. อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

เห็ดหลินจือประกอบด้วยสารพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย การบริโภคเห็ดหลินจือ จึงอาจช่วยเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จากการบริโภคสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการช่วยปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลาม เผยแพร่ในวารสาร International Immunopharmacology ปี พ.ศ. 2549 นักวิจัยทดลองให้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้จำนวน 41 ราย บริโภคเห็ดหลินจือ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ตัวชี้วัดต่าง ๆ ภายในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) หลาย ๆ ชนิดและการทำงานของสารไฟโตฮีแมกกลูตินิน (Phytohemagglutinin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดหลินจือ อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม

ทั้งนี้ ควรมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อศึกษาถึงประโยชน์และความปลอดภัยในการบริโภคเห็ดหลินจือของผู้ป่วยมะเร็งต่อไป

ข้อควรระวังในบริโภค เห็ดหลินจือ

แม้ว่าเห็ดหลินจืออาจมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกาย แต่มีข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหลินจือ ดังนี้

  • การบริโภคเห็ดหลินจือในปริมาณมาก อาจทำให้พบผลข้างเคียง เช่น มึนงง ปากแห้ง ปวดท้อง คลื่นไส้
  • เห็ดหลินจือสกัดอาจสามารถบริโภคต่อเนื่องได้อย่างปลอดภัยในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และสำหรับการบริโภคเห็ดหลินจือแบบผงได้อย่างปลอดภัยอาจไม่ควรเกิน 16 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการสนับสนุนว่าหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคเห็ดหลินจือเพื่อบำรุงครรภ์ได้อย่างปลอดภัย จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภค

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Evaluation of antiproliferative activities and action mechanisms of extracts from two species of Ganoderma on tumor cell lines. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19368349/. Accessed June 8, 2022

Hypoglycemic effects of Ganoderma lucidum polysaccharides in type 2 diabetic mice. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23139131/. Accessed June 8, 2022

Spore Powder of Ganoderma lucidum Improves Cancer-Related Fatigue in Breast Cancer Patients Undergoing Endocrine Therapy: A Pilot Clinical Trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22203880/. Accessed June 8, 2022

Reishi Mushroom – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-905/reishi-mushroom. Accessed June 8, 2022

Nutritional profile and mineral composition of two edible mushroom varieties consumed and cultivated in Bangladesh.
http://www.phytopharmajournal.com/Vol4_Issue4_05.pdf. Accessed June 8, 2022

Monitoring of immune responses to a herbal immuno-modulator in patients with advanced colorectal cancer. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16428086/. Accessed June 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/04/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหาร gluten free คืออะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

อาหารลดความดันโลหิตสูง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 02/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา