โปรตีนจากถั่วเหลือง คือ โปรตีนที่พบในถั่วเหลือง มักใช้แทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยโปรตีนถั่วเหลืองอาจช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนัก เพิ่มพลังงาน หรือสร้างกล้ามเนื้อ ทั้งยังอาจควบคุมความสมดุลของฮอร์โมนและลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โรคหัวใจ และโรคกระดูกพรุน
โปรตีนจากถั่วเหลือง คืออะไร
โปรตีนจากถั่วเหลือง เป็นโปรตีนที่พบในถั่วเหลือง ซึ่งโปรตีนจากพืชและจากสัตว์มีความแตกต่างกันที่จำนวนกรดอะมิโน สำหรับอาหารบางชนิด เช่น ถั่วเหลือง จะมีปริมาณกรดอะมิโนเท่ากับเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีไขมันและคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนื้อสัตว์จะมีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง แม้ถั่วเหลืองจะมีแคลเซียมน้อยกว่าเนื้อสัตว์ แต่ก็มีโปรตีนสูงถึง 35% จากงานบางงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การบริโภคโปรตีนจากถั่วเหลือง 25 กรัม ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และโรคหัวใจอีกด้วย
บริโภคโปรตีนไม่เหมาะสมทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ
การบริโภคโปรตีนไม่ควรกินมากหรือน้อยเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดผลเสียได้ หากต้องการจะทราบว่าควรจะบริโภคโปรตีนอย่างไรและปริมาณเท่าไหร่ อาจเริ่มสังเกตจากร่างกาย และไลฟ์สไตล์ของตนเองก่อน หากร่างกายมีการขาดโปรตีน จะมีอาการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มีปัญหาที่ผิวหนัง เส้นผม และเล็บ นอกจากนี้ ยังมีอาการทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน คือ แผลหายช้า และป่วยง่ายอีกด้วย
สำหรับคนทั่วไปที่มีน้ำหนักมาตรฐาน ควรบริโภคโปรตีนโดยคำนวณตามน้ำหนักที่เหมาะสม เช่น โปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สำหรับนักกีฬา ควรรับประทานโปรตีนมากกว่าปกติ คือ 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ควรกินมากเกินความต้องการ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตควรควบคุมปริมาณการบริโภคโปรตีน ทางที่ดีควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลืองจะเป็นการดีที่สุด
โปรตีนถั่วเหลือง กับ โปรตีนจากแหล่งอื่น
โปรตีนสามารถหาได้จากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ นมสด ไข่ไก่ อะโวคาโด ควินัว หรือถั่วต่าง ๆ ซึ่งแต่ละแหล่งที่มาก็จะปริมาณโปรตีนและคุณค่าสารอาหารต่างกันไป
สำหรับโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะมีไขมันอิ่มตัวมากกว่าโปรตีนจากพืช และมีคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็ยังเป็นแหล่งอาหารที่ดีของธาตุสังกะสี ธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 อีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและคอเลสเตอรอลสูงควรระวังโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อแดง
สำหรับโปรตีนจากถั่วเหลือง นอกจากจะมีปริมาณโปรตีนสูงแล้ว การกินถั่วเหลืองทั้งเมล็ดยังจะช่วยให้ร่างกายได้สารอาหารจำพวก ไฟโตเอสโตรเจน โฟเลต แคลเซียม และไขมันดี และยังมีใยอาหารมาก นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มองหาแหล่งโปรตีนเพิ่มเติมนอกจากเนื้อสัตว์
จะเห็นได้ว่าการเลือกกินโปรตีนจากแหล่งต่าง ๆ อาจมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป อย่าลืมปรึกษานักโภชนาการหรือคุณหมอ เพื่อจะได้เลือกรับประทานโปรตีนให้เหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล
[embed-health-tool-bmr]