โสม (Ginseng) เป็นพืชสมุนไพรที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน โสม ได้ชื่อว่าเป็น ราชาแห่งสมุนไพร ชาวเอเชียนิยมบริโภคโสมเพื่อบำรุงสุขภาพ และรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 2,000 ปี โสมเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ โดยมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า โสมอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ทั้งช่วยในเรื่องเพิ่มความทรงจำ ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ ต่อต้านเซลล์มะเร็ง และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของโสม
โสม 100 กรัม ให้พลังงานราว 80 แคลอรี่ และให้สารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 18 กรัม
- โปรตีน 2 กรัม
- ไขมัน 1 กรัม
- โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม
- โซเดียม 13 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ โสมยังมีวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก โดยสารสำคัญในโสมคือ จินเซนโนไซด์ (Ginsenoside) ซึ่งออกฤทธิ์ในการพัฒนาระบบประสาท รวมถึงต่อต้านสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ประโยชน์ของโสมต่อสุขภาพ
โสมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมและบำรุงสุขภาพของโสม ดังนี้
1.อาจช่วยป้องกันอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
โสม อาจมีส่วนช่วยบำรุงและกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศในเพศชายได้ เนื่องจากมีสารไฟโตอีสโตรเจน (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีธรรมชาติ มีคุณสมบัติและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
สอดคล้องกับผลงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของสารสกัดโสมที่มีต่อผู้ป่วยซึ่งเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ที่เผยแพร่ในวารสาร Asian Journal of Andrology ปี พ.ศ. 2552
งานวิจัย ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยชายที่มีสมรรถภาพทางเพศเสื่อมจำนวน 143 คน โดยถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานสารสกัดโสม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานยาหลอกอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลาเดียวกัน
เมื่อครบกำหนดการทดลอง ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่รับประทานสารสกัดโสม มีสมรรถภาพทางเพศดีกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มซึ่งรับประทานยาหลอก ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงอาจสรุปได้ว่า โสมอาจมีส่วนช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้
2.อาจรักษาอาการอ่อนล้าได้
โสม เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ใช้รักษากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เนื่องจากมีสารประกอบที่เรียกว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และ กรดอะมิโนโอลิโกเพปไทด์ (Oligopeptides) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxydation) และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์ในการสร้างพลังงาน
จากผลการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของโสมต่อการรักษาอาการอ่อนเพลีย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Alternative and Complementary Medicine พ.ศ. 2561 ระบุว่า โสมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการรักษาอาการอ่อนล้าเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่โสมเป็นพืชที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย
จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านการอ่อนล้าของโสมอย่างละเอียดและเป็นระบบพร้อมหลักฐานที่แน่ชัดเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
ขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสรรพคุณของสารพอลิแซ็กคาไรด์ในโสม ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology ปี พ.ศ. 2553 โดยให้สัตว์ทดลองที่ว่ายน้ำจนเหนื่อยบริโภคสารสกัดโสมเป็นเวลา 15 วัน และสรุปผลการทดลองว่า พอลิแซ็กคาไรด์อาจมีส่วนช่วยต้านอาการเหนื่อยล้าได้
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของโสมในการต้านอาการอ่อนล้า
3.อาจช่วยต่อต้านมะเร็ง
โสม มีสารจินเซนโนไซด์ ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง
จากผลการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของสารจินเซนโนไซด์ในการต่อต้านโรคมะเร็ง ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ในปี พ.ศ. 2564 โดยศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยจำนวนมาก พบว่า สารจินเซนโนไซด์อาจมีส่วนช่วยยับยั้งการเติบโตและการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง มะเร็งตับ มะเร็งปอด
ทั้งนี้ การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในหลอดทดลอง หรือในสถานการณ์จำลอง และการศึกษาในคนยังมีจำนวนน้อย จึงควรมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติต้านมะเร็งของโสม
4.อาจช่วยบำรุงสมองและเสริมความจำ
สารจินเซนโนไซด์ในโสมมีสรรพคุณช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาวและเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ จึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงสมอง ป้องกันความจำเสื่อมได้
ผลการศึกษาเกี่ยวกับสารพฤกษเคมีและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในโสม ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2562 พบว่า โสมอาจมีประโยชน์ต่อระบบประสาทของมนุษย์ โดยช่วยให้ความจำดี และเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ความคิดเนื่องจากมีสารพฤกษเคมีอย่างจินเซนโนไซด์ สารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยบำรุงระบบประสาท ป้องกันความเสียหายของเส้นประสาท จึงอาจกกล่าวได้ว่า โสมอาจมีส่วนช่วยบำรุงสมองและป้องกันโรคเกี่ยวกับสมองต่าง ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์
ข้อควรระวังในการบริโภคโสม
แม้โสมจะมีสรรพคุณที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ควรบริโภคด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเกิน 3 เดือน เพราะอาจทำให้มีอาการปวดหัว มึนงง ปวดท้อง รวมถึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของประจำเดือนในเพศหญิง
ทั้งนี้ โสมอาจออกฤทธิ์ทำให้นอนไม่หลับ จึงไม่ควรบริโภคก่อนนอน นอกจากนั้น โสมยังมีฤทธิ์รบกวนการทำงานของยากล่อมประสาท และยารักษาโรคความดันโลหิต ดังนั้น หากกำลังรับประทานยาดังกล่าวอยู่ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคโสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียง
นอกจากนี้ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคโสม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยรองรับความปลอดภัยในการบริโภคโสมของกลุ่มดังกล่าว