ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คือ เครื่องมือชี้วัดที่นำน้ำหนักตัวและส่วนสูงมาคำนวณ เพื่อให้ทราบถึงว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคอ้วน หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีมวลกายเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น ไม่สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้เสมอไป โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เล่นกีฬาและเล่นกล้าม เพราะน้ำหนักที่เกินเกณฑ์อาจเป็นผลมาจากมวลกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
ความสัมพันธ์ของค่าดัชนีมวลกายกับสุขภาพ
การวัดค่าดัชนีมวลกาย มีความสำคัญต่อสุขภาพเนื่องจากอาจทำให้ทราบได้ว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด ต่ำกว่าเกณฑ์หรือมากกว่าเกณฑ์หรือไม่ เพื่อวางแผนการเพิ่มน้ำหนัก ลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนักให้ค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ ดังต่อไปนี้
ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์
คือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
- ภาวะขาดสารอาหาร
- โรคกระดูกพรุน
- โรคโลหิตจาง
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์
คือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 23 ขึ้นไป ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
- โรคอ้วน
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคข้อเข่าเสื่อม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคตับ
- โรคมะเร็ง
นอกจากนี้ ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเกณฑ์และเป็นโรคโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอีกด้วย
วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกาย
วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกายในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถทำได้ดังนี้
วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกาย ในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถคำนวณหาค่า BMI ได้โดยการนำน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง ยกกำลังสอง (เมตร)2
- ยกตัวอย่าง น้ำหนัก 66 กิโลกรัม ความสูง 160 เซนติเมตร (1.60 เมตร)
- วิธีคำนวณ 66 ÷ (1.60)2 = 25.78
เมื่อได้ค่าดัชนีมวลกายแล้วสามารถนำมาอ่านค่าได้ตามเกณฑ์การวัดข้างล่าง ดังนี้
การอ่านค่าดัชนีมวลกายของผู้ใหญ่
- ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- ค่า BMI 18.5-22.90 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า BMI 23-24.90 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
- ค่า BMI 25-29.90 โรคอ้วนระดับที่ 1
- ค่า BMI 30 ขึ้นไป โรคอ้วนระดับที่ 2
วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกายในเด็ก
เด็กและวัยรุ่นอายุ 2-19 ปี สามารถคำนวณหาค่าดัชนีมวลกายโดยใช้สูตรการคำนวณเดียวกับผู้ใหญ่ได้ แต่การอ่านค่าผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน สำหรับเด็กหน่วยจะเป็นเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) และจำเป็นต้องเทียบแผนภูมิควบคู่ไปด้วย
การอ่านค่าดัชนีมวลกายของเด็กและวัยรุ่น
- เด็กและวัยรุ่นที่มีค่าเปอร์เซ็นไทล์น้อยกว่า 5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยที่เหมาะสม
- เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน
- เด็กและวัยรุ่นที่มีเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 หรือมากกว่า อยู่ในเกณฑ์ โรคอ้วน
[embed-health-tool-bmi]
วิธีควบคุมค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การควบคุมค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจทำได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ ควรควบคุมอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และไขมันดี เช่น แตงโม กล้วย ส้ม ผักกาดขาว แครอท กะหล่ำ มะเขือเทศ แตงกวา ไข่ ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล อะโวคาโด น้ำมันมะกอก และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว มันฝรั่งทอด ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์ ควรเพิ่มปริมาณแคลอรี่ของอาหารในแต่ละมื้อ และอาจเพิ่มจำนวนมื้อในการรับประทานอาหารจาก 3 มื้อ/วัน เป็น 4 มื้อ/วัน โดยเน้นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอาจเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนที่ให้พลังงานสูง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150-300 นาที/สัปดาห์ เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ การวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินเร็ว รวมถึงการทำงานบ้านหรือการพาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น โดยสามารถขอคำปรึกษาจากคุณหมอในการวางแผนออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ กระดูกและข้อต่อ เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย
- คำนวณค่าดัชนีมวลกายเป็นประจำ เพื่อทำให้ทราบว่าน้ำหนักปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์หรือไม่
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี