backup og meta

สูตรข้าวยำปักษ์ใต้

สูตรข้าวยำปักษ์ใต้

อาหารไทยแต่ละภาคล้วนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างอาหารปักษ์ใต้ก็เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีรสชาติเข้มข้น จัดจ้าน และกลมกล่อม นอกจากแกงไตปลา แกงเหลือง คั่วกลิ้ง ผัดสะตอ ใบเหลียงผัดไข่ ที่หลายคนน่าจะเคยลิ้มลองกันมาบ้างแล้วนั้น ก็ยังมีอาหารใต้อีกหนึ่งเมนูที่รสชาติเด็ดไม่แพ้เมนูไหน ๆ แถมยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการจากผักและสมุนไพรนานาชนิด รับรองเลยว่า สูตรข้าวยำปักษ์ใต้ สูตรนี้ ใครได้กินก็ต้องติดใจแน่นอน Hello คุณหมอ นำมาฝากกัน

สูตรข้าวยำปักษ์ใต้

ส่วนผสมสำหรับ ข้าวยำปักษ์ใต้

(สำหรับ 2 ที่)

ข้าวสวยหุงด้วยน้ำดอกอัญชัน 2 ถ้วย
ตะไคร้อ่อนหั่นฝอย (ล้างน้ำผสมมะนาว) 1 ถ้วย
ถั่วงอกเด็ดราก 1 ถ้วย
ใบชะพลูซอย ½ ถ้วย
ใบมะกรูดซอย 2 ช้อนโต๊ะ
ส้มโอแกะเนื้อฉีกเป็นฝอย 1 ถ้วย
เมล็ดกระถินแก่หรือสะตอซอย 1 ถ้วย
ดอกดาหลาซอย ½ ถ้วย
ถั่วฝักยาวซอย 1 ถ้วย
มะพร้าวคั่วเหลืองกรอบ ¾ ถ้วย
งาขาวคั่วป่น 2 ช้อนโต๊ะ
งาดำคั่วป่น 2 ช้อนโต๊ะ
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ¼ ถ้วย
พริกขี้หนูแห้งคั่วป่น 2 ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมน้ำบูดู

กะปิ ½ ถ้วย
ปลาร้า ½ ถ้วย
ตะไคร้ทุบหั่นเป็นท่อน 2 ต้น
หอมเล็ก 4 หัว
ใบมะกรูดฉีกเส้นกลางออก 6 ใบ
ข่าอ่อนซอยเป็นแว่น 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะขามเปียกข้น ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ ¼ ถ้วย
น้ำเปล่า ½ ถ้วย
น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ ข้าวยำปักษ์ใต้

  1. เริ่มจากทำน้ำบูดู ตามขั้นตอนต่อไปนี้
    • ละลายกะปิ และปลาร้าในน้ำให้พอเข้ากันดี เสร็จแล้วยกขึ้นตั้งไฟอ่อน พอเดือดใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมเล็ก ข่า
    • ปรุงรสด้วยน้ำมะขาม น้ำตาลปี๊บ ชิมรสตามชอบ ก่อนปิดไฟเติมน้ำมะนาวแล้วยกลง
  2. จัดข้าวสวยใส่จาน โรยเครื่องปรุงต่าง ๆ ให้ครบ ราดน้ำบูดูตามชอบ

สูตรข้าวยำปักษ์ใต้สูตรนี้อาจดูยุ่งยาก เพราะต้องเตรียมส่วนผสมค่อนข้างเยอะ แต่รับรองเลยว่าเมื่อคุณเตรียมส่วนผสมครบแล้ว แค่ใช้เวลาทำอีกไม่นาน ก็จะได้ลิ้มรสข้าวยำปักษ์ใต้จานเด็ดอย่างแน่นอน

สำหรับผักและสมุนไพรต่าง ๆ ที่ใช้ในข้าวยำปักษ์ใต้สูตรนี้ คุณสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ หรือหากใครกินมังสวิรัติ ตอนทำน้ำบูดู ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้กะปิเจและปลาร้าเจแทนได้ รับรองรสชาติอร่อยไม่แพ้สูตรต้นตำรับเลยละค่ะ

สูตรข้าวยำปักษ์ใต้

สะตอและดอกดาหลา ดาราประจำจานข้าวยำ

ข้าวยำนั้นมีผักและสมุนไพรหลากชนิดเป็นส่วนผสม แต่ที่เรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นสุด ๆ ก็เห็นจะเป็นดอกดาหลาและสะตอ ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของทางภาคใต้

ดอกดาหลา (Torch Ginger หรือ Ginger flower) เป็นพืชในวงศ์เดียวกับขิงและข่า มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ดอกมีลักษณะเป็นดอกช่อ ประกอบด้วยกลีบเรียงซ้อนกันและบานออกประมาณ 25-30 กลีบ คนท้องถิ่นนิยมนำหน่อและดอกมาประกอบอาหาร ส่วนดอกนั้นมีรสชาติเปรี้ยว นอกจากจะเพิ่มรสชาติให้กับข้าวยำปักษ์ใต้ได้เป็นอย่างดีแล้ว ดอกดาหลายังมีสารประกอบฟีนอล โพลิฟีนอล (Polyphenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และเทอร์ปีนอยด์หลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยต้านมะเร็งได้ด้วย

ส่วนสะตอ (Parkia หรือ Petai หรือ Stink Bean) ก็เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่วที่คนนิยมนำฝักหรือเมล็ดมากินเป็นอาหาร ถึงแม้เมล็ดสะตอจะมีลักษณะเฉพาะตัวคือกลิ่นแรงมาก แต่ก็เป็นที่โปรดปรานของใครหลาย ๆ คน นอกจากรสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว สะตอยังอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี กินแล้วช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

หลังกินข้าวยำปักษ์ใต้แล้ว อาจทำให้คุณมีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ ฉะนั้น อย่าลืมแปรงฟัน บ้วนปาก และใช้ไหมขัดฟันด้วย เพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี และจะได้ช่วยลดกลิ่นปากด้วย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ข้าวยำปักษ์ใต้ เมนูสุขภาพจากสมุนไพรไทย. https://goodlifeupdate.com/healthy-food/recipe/51275.html. Accessed August 10, 2020

Torch ginger. https://drfarrahcancercenter.com/portfolio/torch-ginger/. Accessed August 10, 2020

The Stink Bean – A Little Smelly, A Lot of Flavor. https://migrationology.com/the-stink-bean-a-little-smelly-a-lot-of-flavor/. Accessed August 10, 2020

Health benefits of Petai. https://www.healthbenefitstimes.com/petai/. Accessed August 10, 2020

Torch Ginger : A review of Its Traditional Uses, Phytochemistry and Pharmacology. https://www.researchgate.net/publication/317543540_Torch_Ginger_A_review_of_Its_Traditional_Uses_Phytochemistry_and_Pharmacology#:~:text=Torch%20ginger%20is%20rich%20of,%2C%20anticancer%2C%20larviciding%20and%20repellent. Accessed August 10, 2020

Evaluation of nutritional quality of torch ginger (Etlingera elatior Jack.) inflorescence. http://www.ifrj.upm.edu.my/18%20%2804%29%202011/%2830%29IFRJ-2011-059.pdf. Accessed August 10, 2020

Antioxidant effects of Etlingera elatior flower extract against lead acetate – induced perturbations in free radical scavenging enzymes and lipid peroxidation in rats. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069941/. Accessed August 10, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

มือใหม่หัดเข้าครัว ทำอาหารกินเอง ยังไง ถึงจะเฮลตี้ ดีต่อสุขภาพสุดๆ

วิธีเลือกวิตามินและอาหารเสริม เลือกยังไงให้ดี เลือกแบบไหนถึงจะปลอดภัย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/08/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา