backup og meta

ชาโรสแมรี่ เครื่องดื่มจากสมุนไพร ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพภายใน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/10/2020

    ชาโรสแมรี่ เครื่องดื่มจากสมุนไพร ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพภายใน

    แน่นอนว่าเครื่องดื่มสมุนไพรจากธรรมชาติอย่าง ชาโรสแมรี่ อาจมีข้อดีต่อสุขภาพของเราเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน หากคุณมีการดื่มอย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้นบทความของ Hello คุณหมอ วันนี้จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับ โรสแมรี่ ให้ละเอียด ก่อนการตัดสินใจบริโภคชาโรสแมรี่โดยไม่ทราบข้อมูลเบื้องต้นจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้

    รู้จักกับ โรสแมรี่ ก่อนนำมาทำชากันเถอะ

    โรสแมรี่ (Rosemary) เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลมินต์ (Lamiaceae) เช่นเดียวกับโหระพา ลาเวนเดอร์ ซึ่งแต่เดิมโรสแมรี่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ และแถบเมดิเตอร์เรเนียน ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมนำโรสแมรี่ประกอบอาหารอย่างมากโดยเฉพาะอาหารคาว เพื่อเป็นการเพิ่มความหอม และดับกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเนื้อสัตว์ได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นสมุนไพรอบแห้ง เพื่อนำมาสกัดเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกายได้ไม่แพ้กันอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นพืชอีกชนิดที่ค่อนข้างใช้ได้ในทุก ๆ กิจวัตรประจำวันของเราเลยทีเดียว

    ประโยชน์ของ ชาโรสแมรี่ ที่อาจดีต่อสุขภาพ

    โรสแมรี่ อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี 6 แคลเซียม และธาตุเหล็กอื่น ๆ ที่อาจเข้าไปช่วยปรับปรุงสุขภาพร่างกายภายในของเราได้ ดังต่อไปนี้

    ต้านอนุมูลอิสระที่นำไปสู่การอักเสบ

    เนื่องจากในใบของ โรสแมรี่ เต็มไปด้วยกรดคาร์โนซิก (Carnosic acid) และกรดโรสมารินิก (Rosmarinic acid) ที่เป็นสารประกอบของ พอลีฟีนอลิก (Polyphenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยปกป้องความเสียหายจากอนุมูลอิสระได้

    ในการศึกษาหนึ่งที่ได้ทำการตรวจสอบผลของกรดโรสมารินิก และกรดคาร์โนซิก พบว่ากรดทั้งสองชนิดอาจมีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็ง รวมไปถึงช่วยในการชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้หลายประเภท เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

    มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับ โรสแมรี่ ในการช่วยบรรเทาความเครียด และปรับปรุงสุขภาพจิตใจ ซึ่งทีมวิจัยได้นำไปทดสอบกับกลุ่มพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งจำนวน 66 คน พบว่าผู้ที่ดื่มชาโรสแมรี่ในปริมาณ 2 ช้อนชา มีอาการเหนื่อยง่ายที่ลดลง เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้มีการดื่มชาโรสแมรี่

    จากผลดังกล่าวนั่นอาจเป็นเพราะว่าสารบางอย่างภายใน โรสแมรี่ เข้าไปช่วยลดการอักเสบใน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ในสมองที่เกี่ยวข้องทางด้านอารมณ์ ความจำ จึงทำให้ผู้คนที่ดื่มนั้นมีสมาธิ และจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น

    • บำรุงสายตา

    ในการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร นำโดย Dr. Stuart A. Lipton, Ph.D. และทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์แซนฟอร์ด – เบิร์นแฮม (Sanford-Burnham Medical) เปิดเผยว่ากรดคาร์โนซิก (Carnosic acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของโรสแมรี่อาจสามารถป้องกันปัญหาทางสายตาของคุณได้ เช่น ภาวะจอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก ได้อย่างมีนัยสำคัญ

    • เสริมสร้างสุขภาพสมอง

    การวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองชิ้นหนึ่ง พบว่า สารประกอบในชาโรสแมรี่อาจช่วยปกป้องสุขภาพของสมองด้วยการป้องกันการตายของเซลล์สมอง พร้อมส่งเสริมการฟื้นตัวจากสภาวะของโรคหลอดเลือดสมอง อีกทั้งยังชะลอการเสื่อมของระบบประสาทที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

    วิธีทำ ชาโรสแมรี่ ง่าย ๆ ด้วยตนเอง

    การทำชาโรสแมรี่ดื่มรับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพนั้น คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง เพียงแค่มีส่วนประกอบ 2 อย่างเท่านั้น นั่นก็คือ น้ำดื่มสะอาด และ โรสแมรี่ โดยสามารถเริ่มต้นได้จากขั้นตอน ดังต่อไปนี้

    1. ต้มน้ำดื่มสะอาดให้เดือดในปริมาณ 10 ออนซ์ หรือ 295 มิลลิลิตร
    2. ใส่ใบโรสแมรี่ อบแห้งที่สามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า หรือหาซื้อได้จากร้านขายสมุนไพร ลงไปประมาณ 1 ช้อนชาในน้ำร้อน
    3. กรองใบโรสแมรี่ออกจากน้ำโดยใช้ตะแกรง จากนั้นเทชาโรสแมรี่ลงในภาชนะพร้อมดื่ม

    หากคุณรู้สึกว่ารสชาติของชานั้นจืดชืดเกินไป คุณสามารถใส่น้ำผึ้ง หรือสารให้ความหวานจากธรรมชาติทดแทนได้เพื่อสุขภาพที่ดี และได้เครื่องดื่มในรสชาติที่คุณต้องการ

    ผลข้างเคียงของ ชาโรสแมรี่ ที่คุณควรรู้

    ชาโรสแมรี่อาจปลอดภัยสำหรับผู้ที่รับประทานในปริมาณที่พอดี แต่ควรรับประทานในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงเท่านั้น เพราะการที่คุณดื่มในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างแก่สุขภาพของเราได้ดังนี้

    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • มีของเหลวในปอด หรืออาการบวมน้ำในปอด
    • ชัก

    หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น โปรดติดต่อรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือขอเข้ารับการรักษาโดยแพทย์นทันที เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา