backup og meta

ปิ้งย่าง จะเยียวยาทุกสิ่ง แต่ถ้ากินบ่อย ๆ อาจไม่ช่วยเยียวยาสุขภาพ!

ปิ้งย่าง จะเยียวยาทุกสิ่ง แต่ถ้ากินบ่อย ๆ อาจไม่ช่วยเยียวยาสุขภาพ!

วันศุกร์หรรษา วันเงินเดือนออก วันเกิด วันฉลอง เป็นต้องรวมตัวกันที่ร้านปิ้งย่าง ลิ้มรสเนื้อเน้น ๆ น้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งกินก็ยิ่งฟิน แต่…การกิน อาหารปิ้งย่าง บ่อยจนเกินไป อาจได้อันตรายต่อสุขภาพแฝงมาด้วย ดังนั้น เพื่อให้การ ปิ้งย่าง ยังคงไว้ซึ่งความอร่อย ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ Hello คุณหมอ มีวิธีกิน อาหารปิ้งย่าง อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพมาฝากค่ะ

ความเสี่ยงสุขภาพจากการกิน อาหารปิ้งย่าง บ่อย ๆ

อาหารปิ้งย่าง ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ บาร์บีคิว สเต็ก หมูกระทะ หรือปิ้งย่างเกาหลี แม้จะอร่อย สะใจ และได้ความเพลิดเพลิน แต่หากกินบ่อย ๆ ในระยะยาว อาหารปิ้งย่างที่กินเข้าไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายประการ ดังนี้

อาหารปิ้งย่าง เสี่ยงต่อมะเร็ง

อาหารปิ้งย่าง เป็นอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกด้วยความร้อนสูง การปิ้งหรือย่างจะทำให้อาหารที่ส่วนมากแล้วเป็นเนื้อสัตว์มีการไหม้หรือเกรียม และส่วนที่ไหม้เกรียมเหล่านี้มักจะพบสารพอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAHs) และสารเฮเทอโรไซคลิกเอมีนส์ (Heterocyclic Amines หรือ HCAs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้เนื้อสัตว์

เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

อาหารปิ้งย่าง มักมีโซเดียมสูง โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักและปรุงรสด้วยซอสหรือเครื่องปรุงต่าง ๆ การกินเมนูปิ้งย่างบ่อย ๆ จึงเสี่ยงที่จะทำให้ระดับโซเดียมในร่างกายสูงเกินระดับปกติ เสี่ยงที่จะทำให้มีปัญหาต่อระดับความดันโลหิตในร่างกาย

เสี่ยงต่ออาการท้องผูก

เมนูปิ้งย่างส่วนมากจะเต็มไปด้วยอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีไฟเบอร์น้อย การกินอาหารปิ้งย่างบ่อย ๆ อาจทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์น้อยหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากไฟเบอร์เป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญช่วยในกระบวนการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย หากกินไฟเบอร์น้อย ก็อาจจะท้องผูกได้

เสี่ยงต่อโรคอ้วน

อาหารปิ้งย่าง มีทั้งเกลือและไขมันในปริมาณสูง แต่มีไฟเบอร์และแร่ธาตุต่าง ๆ ในปริมาณที่น้อย การกินปิ้งย่างบ่อย ๆ จึงเป็นเหมือนการสะสมทั้งโซเดียมและไขมันเอาไว้ในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน

กิน ปิ้งย่าง อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการกิน อาหารปิ้งย่าง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินปิ้งย่างได้ง่าย ๆ ดังนี้

เพิ่มผักและผลไม้

อาหารปิ้งย่าง แม้จะยืนพื้นหลักด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่เพื่อสุขภาพที่ดี เราสามารถเพิ่มผักและผลไม้เข้าไปด้วยได้ โดยอาจจะเป็นการนำเห็ด ผัก หรือผลไม้ไปปิ้งหรือย่าง ก็เป็นความคิดที่ดี เพราะความร้อนที่เผาไหม้ผักและผลไม้จะไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งอย่าง PAHs และ HCAs หรือจะนำเนื้อที่ปิ้งย่างเสร็จแล้วมาม้วนห่อกับผักก็ได้เช่นกัน

เลือกเนื้อให้ดี

เพื่อให้ดีต่อสุขภาพ การเลือกเนื้อสัตว์สำหรับ อาหารปิ้งย่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เลือกเนื้อที่ไม่ติดมัน หรือไม่มีหนัง เพื่อลดความเสี่ยงของการสะสมไขมัน และหากเป็นไปได้ ควรเลือกเนื้อที่ไม่ผ่านการหมักด้วยซอสที่มีโซเดียมหรือเกลือ หรือควรปรุงด้วยซอสที่มีโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่น้อยลง เพื่อลดการสะสมโซเดียมในปริมาณสูง แต่ถ้าจะให้ดี การกินปิ้งย่างที่บ้านอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะสามารถที่จะทำการหมักเนื้อได้ด้วยตัวเอง สามารถปรับลดเครื่องปรุงที่ดีต่อสุขภาพได้ตามต้องการ และเพื่อให้เนื้อที่หมักดีต่อสุขภาพ ควรหมักด้วยวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ไวน์ น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำผึ้ง กระเทียม หอมหัวใหญ่ สมุนไพร เครื่องเทศต่าง ๆ หรือถ้าต้องการจะใช้ซอสในการหมักก็สามารถทำได้แต่ควรใช้ในปริมาณที่น้อย

อย่าปิ้งหรือย่างนาน

การปิ้งหรือย่างเนื้อสัตว์ไม่ควรใช้เวลาในการปิ้งหรือย่างนานจนเกินไป เพราะเนื้อที่ได้รับความร้อนเป็นเวลานาน เสี่ยงที่จะเกิดรอยไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงต่อการเพิ่มสารก่อมะเร็งได้ ควรใช้ระยะเวลาในการทำให้เนื้อสัตว์สุกแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

พลิกบ่อย ๆ

นอกจากจะต้องใช้เวลาในการปิ้งหรือย่างอย่างเหมาะสมแล้ว การพลิกเนื้อสัตว์บ่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการสร้างสารก่อมะเร็ง เพราะเนื้อที่ไม่ถูกพลิกไปมามักจะเกิดการไหม้เกรียม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสาร HCAs ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

อย่ากิน อาหารปิ้งย่าง บ่อยเกินไป

อาหารปิ้งย่าง กินได้ แต่ไม่ควรกินบ่อย การกินปิ้งย่างเดือนละครั้ง หรือสองครั้ง ถือเป็นระยะที่กำลังดี ไม่ควรกินทุกสัปดาห์ หรือในหนึ่งสัปดาห์กินปิ้งย่างหลายครั้ง เพราะอาจเสี่ยงที่ร่างกายจะมีการสะสมโซเดียม โปรตีน ไขมัน และสารก่อมะเร็งมากจนเกินไป ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

8 Scary Things That Happen To Your Body When You Eat Grilled Foods. https://www.eatthis.com/eating-grilled-foods-side-effects/. Accessed February 24, 2021.

A Healthier Way to Grill. https://www.webmd.com/food-recipes/features/a-healthier-way-of-grilling. Accessed February 24, 2021.

5 tips for healthy grilling. https://www.health.harvard.edu/blog/5-tips-for-healthy-grilling-201305276318. Accessed February 24, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/06/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nopnan Ariyawongmanee


บทความที่เกี่ยวข้อง

หิวบ่อย เกิดจากอะไร แก้ไขได้อย่างไรบ้าง

บุฟเฟต์ กินอย่างไรให้สุขภาพดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา