การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะเป็นเมนส์หรือมีประจำเดือนอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว เช่น ปวดท้องเมนส์ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว อาหารที่กินเข้าไปก็อาจส่งผลให้เกิดอาหารเหล่านี้ได้เช่นกัน หลายคนจึงอาจสงสัยว่า เป็นเมนส์ห้ามกินอะไร ถึงจะช่วยไม่ให้อาการขณะเป็นเมนส์แย่ลง
โดยทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารรสเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ติดมัน เป็นต้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ผักใบเขียว โยเกิร์ต อาจช่วยบรรเทาอาการระหว่างเป็นเมนส์ให้บางเบาลงได้
[embed-health-tool-ovulation]
เป็นเมนส์ห้ามกินอะไร
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่เป็นเมนส์ อาจมีดังนี้
-
อาหารรสเค็ม
ร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วันเท่านั้น แต่อาหารรสเค็ม เช่น หอยดอง ไส้กรอกอีสาน กะปิ ไข่เค็ม ผลไม้ดอง มีโซเดียมสูง อาจทำให้ร่างกายเก็บกักน้ำไว้ในปริมาณมาก ส่งผลให้ท้องอืดมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไต โรคหัวใจได้ด้วย
-
อาหารรสเผ็ด
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงมีเมนส์อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องหรือท้องอืดได้ การรับประทานอาหารรสเผ็ด เช่น ส้มตำปลาร้า ต้มยำ ต้มแซ่บ อาจทำให้มีแก๊สในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืดหรือท้องเสียในช่วงเป็นเมนส์แย่ลงได้ ทั้งยังอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารอักเสบได้ด้วย
-
เนื้อสัตว์ติดมัน
ขณะเป็นเมนส์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวเพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเมนส์ในแต่ละรอบเดือน หากมีฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย ยิ่งหากกินเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น ขาหมู หมูสามชั้น เนื้อวัว เนื้อแกะ ที่มักมีกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acids) ในปริมาณสูง ซึ่งกรดชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารพรอสตาแกลนดินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยิ่งปวดท้องเมนส์ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมันขณะเป็นเมนส์
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์อาจไปเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน และทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล จนส่งผลให้เมนส์มาไม่ปกติ เช่น เมนส์มามากหรือน้อยกว่าปกติ เมนส์มานานกว่าปกติ อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกหดและบีบรัดตัว จึงอาจทำให้ปวดท้องเมนส์รุนแรงขึ้น รวมถึงอาจทำให้อาการอื่น ๆ เช่น อาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ท้องอืด ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นตะคริว แย่ลงด้วย
อาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นเมนส์
อาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นเมนส์ อาจมีดังนี้
-
ผักใบเขียว
ในช่วงที่เมนส์มา โดยเฉพาะเมื่อเมนส์มามาก ร่างกายอาจสูญเสียธาตุเหล็กมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย จึงควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักคะน้า เพื่อเพิ่มปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียขณะเป็นเมนส์ได้ อีกทั้งผักใบเขียวยังมีแมกนีเซียมสูง ซึ่งช่วยคลายกล้ามเนื้อ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์และปวดเมื่อยร่างกายขณะมีเมนส์ได้
-
ปลา
ปลาที่มีไขมันต่ำและย่อยง่าย เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า มีส่วนช่วยลดอาการท้องอืดขณะเป็นเมนส์ และมีธาตุเหล็กที่อาจช่วยทดแทนปริมาณธาตุเหล็กที่สูญเสียไปขณะเป็นเมนส์ได้ ทั้งยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Gynecology and Obstetrics ศึกษาเกี่ยวกับผลของกรดไขมันโอเมก้า 3 ต่อระดับความรุนแรงของอาการปวดท้องเมนส์หรือปวดประจำเดือนที่ไม่ได้เกิดจากโรคอื่น ๆ (Primary dysmenorrhea) พบว่า ผู้หญิงที่รับประทานอาหารเสริมน้ำมันปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลาเป็นเวลา 3 เดือน มีอาการปวดท้องเมนส์ลดลงอย่างมาก จนทำให้กลุ่มตัวอย่างสามารถลดปริมาณการใช้ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้
-
โยเกิร์ต
ในช่วงเป็นเมนส์หรือหลังเป็นเมนส์ หลายคนอาจเสี่ยงติดเชื้อราหรือเชื้อยีสต์บริเวณช่องคลอดได้ง่ายขึ้น การรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อาจช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ โยเกิร์ตยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในช่วงที่เป็นเมนส์ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซึ่งอาจช่วยลดอาการก่อนมีเมนส์ (PMS) และมีส่วนช่วยควบคุมให้เมนส์มาอย่างสม่ำเสมอ