หากคุณเพิกเฉยต่อการรักษาวินัยความสะอาด หรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไม่หมั่นล้างมือหลังจับสิ่งสกปรก รับประทานอาหารใช้ภาชนะเดียวกันโดยไม่มีช้อนกลาง หรือไม่แยกอุปกรณ์ โปรดจงระวังให้ดี เพราะนอกจากเชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดการติด เชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) ตามมาด้วยก็เป็นได้
เชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) คืออะไร
เอชไพโลไร (Helicobacter pylori ; H. pylori) คือ เชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นเกลียว เรียวยาว มักเจริญเติบโตอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร รวมถึงลำไส้เล็ก ได้มากถึงร้อยละ 60%
เราสามารถได้รับเชื้อ เอชไพโลไร เข้าสู่ร่างกาย ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด
- การอาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด หรืออยู่ร่วมกับครอบครัว ที่มีสมาชิกจำนวนมากภายในบ้าน
- การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มี เชื้อเอชไพโลไร โดยอาจส่งต่อผ่านทางปาก เช่น การจูบ
- การไม่ยอมล้างมือให้สะอาดหลังจากใช้ห้องน้ำ
อาการเบื้องต้นเมื่อได้รับเชื้อเอชไพโลไร
เนื่องจากการติดเชื้อ เอชไพโลไร อาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดมากนัก แต่ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถต้านทานต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดนี้ได้ ก็อาจเผยอาการต่าง ๆ ออกมาให้เห็น ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด
- มีไข้
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- ท้องอืด
- กลืนอาหารลำบาก
- ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้อง
- ปวดท้องบ่อยครั้งเมื่อท้องว่าง
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
- อุจาระเป็นเลือด หรือมีสีที่เข้มขึ้นถึงสีดำ
ซึ่งหากคุณสังเกตพบว่าตัวเองกำลังมีอาการดังกล่าว ควรเข้าขอรับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมอย่างแน่ชัด พร้อมรับการรักษาอย่างเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ก่อนเกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารของคุณ
วิธีรักษาหากติดเชื้อ เอชไพโลไร
ก่อนเริ่มการรักษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจมีการสอบถามประวัติทางด้านสุขภาพ รวมไปถึงยา หรือวิตามินที่คุณรับประทานอยู่ร่วม เพื่อนำไปเป็นข้อมูลวิเคราะห์หาเทคนิคการวินิจฉัยที่เหมาะสม โดยแพทย์อาจให้คุณเข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ทดสอบระบบหายใจ และตรวจอุจจาระร่วมด้วยเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย เอชไพโลไร
หากผลการวินิจฉัยพบว่าคุณมีเชื้อดังกล่าวอยู่ภายในร่างกาย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดด้วยกัน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาที่คุณได้รับ ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งจ่ายให้อาจมีดังต่อไปนี้
- ยาระงับการทำงานของฮิสตามีน (Histamine H-2 blockers.)
- ยายับยั้งการหลั่งกรดโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors ; PPIs)
- เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- คลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin)
นอกจากการรับประทานยาแล้ว คุณอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วย โดยอาจจำเป็นต้องงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือรสเผ็ดจัด พร้อมรักษาสุขอนามัยความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันมิให้แผลที่ติดเชื้อในกระเพาะอาหารมีอาการแย่ลง และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เอชไพโลไร อีกครั้งในอนาคต