รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว คุณสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว หรือสองครั้ง แต่อาจหลายครั้ง และเมื่อคุณป่วยเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง หรือรอบต่อ ๆ มา ก็มักมีอาการหนักและรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้าเสมอ มาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้จากบทความนี้ของ Hello คุณหมอ กันเลย
ใช่แล้ว ไข้เลือดออกโจมตีเราได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดในกว่าหนึ่งร้อยประเทศทั่วโลก และประมาณการว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ถึงสามพันล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเลยทีเดียว
สำหรับสถิติในประเทศไทยนั้น มีผู้ป่วยไข้เลือดออก เป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ เรียกได้ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือ ภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิต
ไวรัสเด็งกี่ (Dengue) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ โดยในประเทศไทยมีการระบาดของทั้งสี่สายพันธุ์หมุนเวียนกันไปตามแต่ละพื้นที่ และจากการที่ไวรัสเด็งกี่มีหลายสายพันธุ์เช่นนี้ จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากที่เราอาจจะติดเชื้อและเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และที่ร้ายที่สุดก็คือ การติดเชื้อในครั้งถัดไป อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน และอาจหนักขึ้นจนถึงแก่ชีวิตเลยก็เป็นได้
ทำไมเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง ถึงหนักหนากว่าครั้งแรก
ก่อนหน้านี้เราทราบกันแต่เพียงว่า การเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง นั้น มักมีอาการหนักกว่าครั้งแรก แต่ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าเพราะเหตุใด แต่ในตอนนี้ ได้มีงานวิจัยที่ออกมาชี้ชัดแล้วว่า ทำไมการติดเชื้อครั้งต่อมาถึงร้ายแรงขึ้น
จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระหว่างปี ค.ศ. 2004 ถึง ค.ศ. 2016 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 2-14 ปี จำนวน 6,684 คน เพื่อดูว่าทำไมเด็กจึงมักจะเกิดไข้เลือดออกชนิดร้ายแรง (Dengue hemorrhagic fever และ Dengue shock syndrome) เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สอง
คำตอบที่เรียบง่ายในเรื่องนี้ก็คือ ในการติดเชื้อครั้งแรกนั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานตามปกติด้วยการสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อสู้กับการรุกรานของไวรัส แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ แอนตี้บอดี้เหล่านี้สามารถสับสนได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นในภายหลัง หรือแม้กระทั่งสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม
โดยในการติดเชื้อครั้งที่สองนี้ แอนตี้บอดี้อาจรับรู้ถึงการเข้ามาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่กลับกำจัดมันออกจากระบบของร่างกายได้ไม่ดีพอ และแทนที่จะกำจัดมันออกไป แอนตี้บอดี้กลับไปจับตัวกับไวรัสที่เข้ามาใหม่ ในแบบที่กลับช่วยให้มันรุกรานระบบภูมิคุ้มกันและทำให้มันกระจายตัวไปมากยิ่งขึ้น และทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่า คุณเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หากคุณเข้ารับการรักษาอาการที่อาจจะเป็นไข้เลือดออกได้ เพื่อให้แพทย์สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับอาการร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ถ้าคุณติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นครั้งที่สองหรือสามหรือสี่
วัคซีนไข้เลือดออก อาจช่วยคุณได้
วัคซีนไข้เลือดออกซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 พร้อมกับอีก 17 ประเทศที่ให้การรับรองในการนำวัคซีนตัวนี้มาใช้ได้ โดยวัคซีนจะสามารถช่วยป้องกัน ไข้เลือดออก จากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 65.6 % และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ถึง 93.2%
ถึงแม้จะมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนในกลุ่มเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน จนทำให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องประโยชน์ของวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยเป็น ไข้เลือดออก มาก่อน แต่ในกรณีของผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนนั้น เมื่อได้รับวัคซีนจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้มากถึง 81.9% เนื่องจากวัคซีนไข้เลือดออกเกิดจากการผสมกันระหว่างวัคซีนเชื้อไข้เหลืองที่มีใช้มานาน พ่วงกับเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่วัคซีนที่เป็นเชื้อไข้เลือดออกล้วน ๆ ทำให้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้
การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกกำหนดให้ฉีดสามครั้ง โดยเว้นระยะ 6 และ 12 เดือน การฉีดแต่ละครั้งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าวัคซีนไข้เลือดออกจะป้องกันโรคได้นานแค่ไหน แต่จากการติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้มาเป็นเวลา 6 ปี ก็พบว่ายังมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่
ดังนั้น สำหรับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว และมักปรากฏอาการร้ายแรงในการติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อ ๆ มา การป้องกันไม่ให้โรคมาเยือนซ้ำสองจึงเป็นหัวใจสำคัญ และการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ก็ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง “แต้มต่อ” ที่สำคัญในการป้องกันตัวเองจาก ไข้เลือดออก สำหรับข้อมูลของวัคซีนไข้เลือดออกนั้น โปรดปรึกษาแพทย์ของคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีน