backup og meta

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 : สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับหัวใจควรรู้

ตอนนี้หลายคนน่าจะรู้แล้วว่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) นั้นส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจและปอดของเรา ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน และสำหรับคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ เราอยากแนะนำให้คุณระวังเป็นพิเศษ เพราะจากข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ JAMA Cardiology ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดกำเริบได้ และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับ สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 ที่คุณควรรู้

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจกับสุขภาพหัวใจ

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ไวรัสอาร์เอสวี (RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจ) และโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial pneumonia) สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ และทำให้ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วมีอาการของโรครุนแรงขึ้นได้

จากข้อมูลที่ผ่านมานั้น พบว่า ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นเสียชีวิตจากอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่เสียอีก

และจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนของโรคซาร์สและโรคเมอร์สซึ่งเกิดจากไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด-19 พบว่า ผู้ป่วยโรคซาร์สส่วนใหญ่จะมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นเร็ว และผลจากการศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยโรคเมอร์สจำนวน 637 ราย ก็พบว่า กว่า 30%  มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด

แม้ทีมนักวิจัยจะระบุไม่ได้แน่ชัดว่า โรคเมอร์สเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ว่าคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเมอร์สมากกว่า และร่างกายยังต่อสู้กับการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19 : ความเกี่ยวข้องที่ควรรู้

หากดูจากข้อมูลข้างต้น เราจะพบว่า ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจทั้งจากไวรัสในตระกูลโคโรนาและตระกูลอื่นๆ มักพบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจด้วย และเมื่อพูดถึงโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดอย่างโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างก็เห็นตรงกันว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการรุนแรงได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน จำนวน 44,672 ราย ก็พบว่า 4.2%  ของกลุ่มตัวอย่างเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นเคสที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตถึง 22.7%

อีกหนึ่งงานวิจัยในประเทศจีน ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 99 ราย พบว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่างป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว และยังมีงานศึกษาวิจัยอีกหนึ่งชิ้น ที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 150 ราย พบว่า ผู้ป่วยจำนวน 82 ราย ที่รอดชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีรายใดมีปัญหาสุขภาพหัวใจเลย แต่ผู้เสียชีวิตจำนวน 68 ราย มี 13 ราย ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ก่อนแล้ว นั่นทำให้นักวิจัยเชื่อว่า ปัญหาสุขภาพหัวใจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

จากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อโควิด-19 และโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เรายกตัวอย่างข้างต้น ก็น่าจะยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดกับโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเชื่อมโยงกันจริง ฉะนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจ จึงยิ่งต้องดูแลตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 โดยทำตามวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นดังต่อไปนี้

สุขภาพหัวใจกับโควิด-19: วิธีดูแลตัวเอง

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ หรือหากไม่สะดวก สามารถทำความสะอาดมือด้วยสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจาม เสร็จแล้วควรทิ้งทิชชู่ทันที หากหาทิชชู่ไม่ได้ ควรไอจามใส่ท้องแขนแทนฝ่ามือ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือใช้สิ่งของ เช่น จานชาม ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น
  • หากคุณจำเป็นต้องใช้ยารักษาปัญหาสุขภาพหัวใจที่เป็นอยู่ ต้องกินยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี สุขภาพแข็งแรงเสมอ
  • รับประทานอาหารที่โซเดียมต่ำ ไม่เติมน้ำตาล เน้นผักผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ และต้องไม่ลืมบริโภคไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ปลาแซลมอน ด้วยเพราะช่วยบำรุงหัวใจ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Coronaviruses and heart health. https://www.medicalnewstoday.com/articles/coronaviruses-and-heart-health. Accessed April 15, 2020

Coronavirus (COVID-19) Resources. https://www.heart.org/en/coronavirus/coronavirus-covid-19-resources. Accessed April 15, 2020

Coronavirus, heart disease and stroke. https://www.heartandstroke.ca/articles/coronavirus-heart-disease-and-stroke. Accessed April 15, 2020

Coronavirus (COVID-19) and cardiovascular disease. https://www.heartfoundation.org.au/your-heart/coronavirus-covid-19-and-cardiovascular-disease. Accessed April 15, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/06/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nopnan Ariyawongmanee


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้เสริมภูมิคุ้มกัน อร่อย สุขภาพดี พร้อมสู้เชื้อโควิด-19

อาหารเสริมเพื่อสุขภาพหัวใจ ที่อาจช่วยคุณต่อสู้กับโรคหัวใจได้


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไข 17/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา