backup og meta

สัญญาณเตือน อาการลองโควิด มีอะไรบ้าง รักษาอย่างไร

สัญญาณเตือน อาการลองโควิด มีอะไรบ้าง รักษาอย่างไร

อาการลองโควิด แตกต่างไปในแต่ละราย โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ เหนื่อยล้าอย่างมาก เหนื่อยง่าย รู้สึกหายใจไม่ออก สูญเสียการได้กลิ่นหรือรับรู้รสชาติ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นผื่น หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ ควรดูแลตนเองในเบื้องต้นด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงร่างกาย และไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาตามอาการ หรือประเมินสภาพร่างกายเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม อาจช่วยให้อาการลองโควิดหายไปได้ในที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

อาการลองโควิด คืออะไร

อาการลองโควิด (Long-term effects of COVID-19 หรือ Long COVID) เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากหายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว โดยร่างกายจะมีอาการผิดปกติหลังจากได้รับเชื้อนานกว่า 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยทั่วไป ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อยหรือรุนแรง ก็ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นลองโควิดหรืออาการป่วยบางอย่างในระยะยาวได้ แม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายแล้วก็ตาม

ปัจจัยเสี่ยงอาการลองโควิด

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการลองโควิด ได้แก่

  • ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องการการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดในฐานะผู้ป่วยหนัก
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือเป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้วก่อนที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
  • ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
  • มีอาการของกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็กหรือภาวะมิสซี (MIS- C) และกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในผู้ใหญ่ หรือภาวะมิสเอ (MIS-A) ในช่วงที่เป็นโควิดหรือหลังหายจากโควิด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก เกิดจากระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการอักเสบ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้

อาการลองโควิดเป็นอย่างไร

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน นอกจากจะทำให้เกิดอาการที่ไม่เหมือนกันในขณะติดเชื้อแล้ว ยังทำให้เกิดอาการลองโควิดที่แตกต่างกันไป โดยอาการที่พบบ่อยมักมีดังนี้

อาการโดยทั่วไป

  • เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียที่ส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
  • เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงทำกิจกรรมที่เคยทำได้ก่อนเป็นโควิด
  • มีไข้

อาการทางระบบทางเดินหายใจและหัวใจ

  • หายใจลำบากหรือถี่รัว
  • ไอ
  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นแรง ใจสั่น

อาการทางระบบประสาท

  • ไม่มีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • ปวดศีรษะ
  • มีปัญหาการนอนหลับ
  • วิงเวียนเมื่อลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนอิริยาบถ
  • รู้สึกชาแปลบเหมือนเข็มทิ่มตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • มีประสาทสัมผัสการรับรู้รสและกลิ่นเปลี่ยนไป
  • วิตกกังวล ซึมเศร้า

อาการทางระบบทางเดินอาหาร

  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย

อาการอื่น ๆ

  • ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
  • ผื่นขึ้น
  • ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาเร็ว ประจำเดือนมามาก

อาการลองโควิด หายได้หรือไม่

อาการลองโควิดอาจหายไปได้เอง ระหว่างที่เป็นอาจไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาตามอาการ หรือดูแลสุขภาพของตัวเองในเบื้องต้น เช่น

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เน้นอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงและบริหารปอดให้กลับมาทำงานได้เต็มที่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ระยะของการเป็นลองโควิดในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันไป บางรายอาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ หลายเดือน หรือนานเป็นปี จนกระทั่งร่างกายกลับมาสู่สภาวะปกติโดยที่ไม่มีอาการลองโควิดอีกต่อไปผู้ที่มีอาการลองโควิดบางรายโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น อวัยวะบางส่วนทำงานผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือผิดปกติ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง สมอง ทำให้เสี่ยงเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างได้มากกว่า เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เกิดลิ่มเลือด ภาวะทางระบบประสาท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน

อาการลองโควิด ป้องกันได้อย่างไร

วิธีป้องกันอาการลองโควิดที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงไม่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากการดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อให้ตัวเองและคนรอบตัวห่างไกลเชื้อโรคด้วยการล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะหรือเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดและมีคนแออัด ใช้เจลหรือสเปรย์แอลฮอล์ฉีดพ่นตามพื้นผิวต่าง ๆ เช่น เก้าอี้ ลูกบิดประตู ทั้งนี้ อีกหนึ่งวิธีเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการลองโควิด คือ ทุกคนควรฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1, 2 และเข็มกระตุ้นทุก 3-6 เดือน โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 (กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นการช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Long COVID or Post-COVID Conditions. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects/index.html. Accessed May 25, 2023

COVID-19: Long-term effects. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/coronavirus/in-depth/coronavirus-long-term-effects/art-20490351. Accessed May 25, 2023

Long-term effects of COVID-19 (long COVID). https://www.nhs.uk/conditions/covid-19/long-term-effects-of-covid-19-long-covid/. Accessed May 25, 2023

Post-COVID Conditions (Long COVID). https://medlineplus.gov/postcovidconditionslongcovid.html.  Accessed May 25, 2023

Understanding post-COVID-19 symptoms and long COVID. https://www.healthdirect.gov.au/covid-19/post-covid-symptoms-long-covid. Accessed May 25, 2023

ภาวะลองโควิด (long covid) เป็นแล้วหายไหม วิธีสังเกตและการรักษา. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/long-covid/#:~:text=อาการที่อาจเป็นลอง,การทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ. Accessed May 25, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการโควิด ล่าสุด เป็นอย่างไรบ้าง ฉบับอัปเดตปี 2566

7 การดูแลตัวเองหลังติด COVID-19 มีอาการลองโควิดต้องทำอย่างไร?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา