backup og meta

โควิดสายพันธุ์มิว ไวรัสกลายพันธุ์ เสี่ยงดื้อวัคซีน หลบภูมิคุ้มกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 06/09/2021

    โควิดสายพันธุ์มิว ไวรัสกลายพันธุ์ เสี่ยงดื้อวัคซีน หลบภูมิคุ้มกัน

    องค์การอนามัยโลก (WHO) พบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์มิว (Mu) หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า B.1.621 โดยถูกพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 

    โควิดสายพันธุ์มิว เกิดจากการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง B.1 (ตำแหน่งการกลายพันธุ์ R346K, E484K, N501Y, D614G และ P681H) โดยเกิดจากตำแหน่ง E484K และ N501Y ที่เป็นตำแหน่งกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าโควิดสายพันธุ์มิวอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่อาจส่งผลให้ภูมิต้านทานที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังคงต้องทำการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสดังกล่าวนี้

    นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศโคลอมเบีย โควิดสายพันธุ์มิวก็ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบันโควิดสายพันธุ์มิวได้แพร่ระบาดแล้วใน 39 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่พบในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา โดยในทวีปอเมริกา พบในประเทศโคลอมเบีย ประเทศเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในทวีปยุโรปพบในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเยอรมนี และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พบผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา เมืองซาเวนเทม ใกล้กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์มิวจำนวน 7 คน ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีอายุระหว่าง 80-90 ปี และสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง 

    สำหรับทวีปเอเชีย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น พบประชากรในประเทศติดเชื้อโควิดสายพันธุ์มิว แบบไม่แสดงอาการ 2 ราย ระหว่างการตรวจการคัดกรองที่สนามบิน โดยรายแรกเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ปี ที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564 และรายที่ 2 อายุประมาณ 50 ปี เดินทางกลับจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 

    ในภาพรวมอัตราการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์มิวมีแนวโน้มการแพร่ระบาดลดลงกว่า 0.1% แต่ในประเทศโคลอมเบียและประเทศเอกวาดอร์ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก จึงประกาศให้โควิดสายพันธุ์ดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI) ร่วมกับสายพันธุ์แคปปา (B.1.617.1) สายพันธุ์อีตา (B.1.525) สายพันธุ์ไอโอตา B.1.526) และสายพันธุ์แลมบ์ดา (C.37) 

    อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบโควิดสายพันธุ์มิวในประเทศไทย และยังไม่มีหลักฐานที่ระบุแน่ชัดว่า ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์มิวจะมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน ระบุเพียงว่า การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์มิวอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ภูมิต้านทานที่ได้จากการฉีดวัคซีนลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 06/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา