โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เป็นภาวะหนึ่งที่อาจนำพาไปสู่เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย เช่น ปอดยุบตัว เกิดรูขนาดใหญ่ในปอด เพิ่มความดันในหลอดเลือดแดงของหัวใจและปอดเพิ่มมากขึ้น หากไม่เข้ารีบรักษาอาจหายใจลำบาก ไอเรื้อรัง รวมไปถึงสุขภาพทางเดินหายใจเสียหายอย่างหนักได้
คำจำกัดความ
โรคถุงลมโป่งพอง คืออะไร
โรคถุงลมโป่งพอง คือหนึ่งในโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โดยโดยจะส่งผลให้ถุงลมเสียความยืดหยุ่น อาจทำให้เยื่อบุของถุงลมได้รับความเสียหาย และแตกตัวออกจนเกิดช่องว่างภายใน ทำให้ปอดมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง และขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ยากขึ้น
อาการ
อาการของ โรคถุงลมโป่งพอง
อาการของ ถุงลมโป่งพอง มักแตกต่างกันออกไป โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด มีดังนี้
- ไอบ่อยและต่อเนื่อง
- หายใจตื้น
- มีเสมหะปริมาณมาก
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
ในรายที่มีอาการเรื้อรัง อาจมีอาการดังต่อไปนี้
- หายใจมีเสียงหวีด
- ปอดติดเชื้อ
- น้ำหนักลดลงจากอาการไม่อยากอาหาร หรือเบื่ออาหาร
- รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย
- ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีซีดเนื่องจากขาดออกซิเจน
สาเหตุ
สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง
สาเหตุที่ทำให้ ถุงลมโป่งพอง และเกิดการระคายเคืองในช่องทางเดินหายใจเป็นเวลานาน มีดังต่อไปนี้
- การสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่
- มลพิษทางอากาศ
- ฝุ่น
- สารเคมี
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง
แม้ว่าความเสียหายของถุงลมจะเกิดจากภาวะต่าง ๆ รอบตัว และบางคนอาจไม่เผยอาการใด ๆ แต่จะมีอาการชัดขึ้นในอายุ 40-60 ปี หรือเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ และอาการจะมีการพัฒนาที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน และรุนแรงมากขึ้นตามมา โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาแทบทั้งชีวิต
อีกทั้งการที่ร่างกายขาดเอนไซม์ Alpha 1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดโดยมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำลายเนื้อเยื่อ ก็อาจนำไปสู่การทำลายปอดได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง
การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง ที่คุณหมอใช้ เพื่อประเมินหาสาเหตุก่อนการรักษา มีดังนี้
- การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นเทคนิคที่ถ่ายจากทุกทิศทาง เพื่อสร้างมุมตัดขวางของอวัยวะภายในเช็กความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
- การตรวจเลือด คุณหมออาจเจาะเลือดนำไปทดสอบว่ามีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในเลือดหรือไม่ เพื่อเช็กว่าปอดมีการทำงานเพิ่มออกซิเจน และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีมากเพียงใด
- ทดสอบการทำงานของปอด เป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ (Spirometry) เพื่อเช็กว่าปอดมีการเก็บอากาศได้มากแค่ไหน มีการไหลเวียนของอากาศได้ดีหรือไม่
การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษานี้จะช่วยบรรเทาอาการ และชะลอการลุกลามของโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นได้ โดยคุณหมอจะรักษาตามอาการ และผลจากการวินิจฉัย ด้วยเทคนิคทางการแพทย์ต่าง ๆ ดังนี้
- การกำหนดยาตามอาการ ยาส่วนใหญ่ที่คุณหมอกำหนดให้อาจเป็นยาบรรเทาอาการไอ ยาคลายหลอดลมที่ตีบตัน และยาปฏิชีวนะที่ช่วยกำจัดแบคทีเรีย บางกรณีก็อาจกำหนดยาในรูปแบบพ่นผ่านทางปาก และโพรงจมูกร่วมด้วย
- การบำบัดฟื้นฟูสุขภาพปอด เป็นโปรแกรมที่สอนควบคุมการหายใจ และการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อลดอาการหอบ
- การบำบัดด้วยออกซิเจน หากภาวะ ถุงลมโป่งพอง อยู่ในระดับรุนแรงที่ส่งผลทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ การใช้ออกซิเจนเสริมที่สูดดมเข้าไปผ่านทางโพรงจมูก อาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านเอาไว้ ป้องกันในภาวะฉุกเฉิน
- การผ่าตัด การผ่าตัดหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือการปลูกถ่ายปอดใหม่ และการกำจัดชิ้นเนื้อเยื่อปอดที่เสียหายออก เพื่อให้เนื้อเยื่อปอดที่เหลือขยายตัว ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อป้องกัน ถุงลมโป่งพอง
เพื่อไม่ให้ถุงลม และปอดได้รับความเสียหายจนเกิด ถุงลมโป่งพอง ขึ้น วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยได้
- เลิกบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสูดดมสารที่ทำให้เกิดความระคายเคืองในทางเดินหายใจ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอในรูปแบบที่เหมาะสม
- ไม่ควรอยู่ในสภาพอากาศที่เย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้หลอดลมหดเกร็ง
- ฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม และไข้หวัดใหญ่
- ควรอยู่ห่างจากบุคคลที่เป็นหวัด
- ล้างมือบ่อย ๆ หลังจากการสัมผัส หรือทำธุระส่วนตัว
- สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องไปในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก