backup og meta

10 ตัวการทำลายปอด ที่คุณอาจคาดไม่ถึง และไม่ทันได้ระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 18/05/2020

    10 ตัวการทำลายปอด ที่คุณอาจคาดไม่ถึง และไม่ทันได้ระวัง

    เมื่อพูดถึง ตัวการทำลายปอด หลายคนน่าจะนึกถึงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และการสูบบุหรี่เป็นอันดับต้นๆ แต่คุณจะรู้ไหมว่า ยังมีอีกหลายอย่างรอบตัวเราที่สามารถเป็นต้นเหตุให้ปอดของคุณเสียหายหรือถูกทำลายได้ และนี่คือ 10 ตัวการทำลายปอด ที่คุณมักละเลย และไม่ทันได้ระวัง

    10 ตัวการทำลายปอด ที่คุณอาจคาดไม่ถึง

    1. เชื้อรา

    เชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นตามซอกมุมของบ้าน ตามเฟอร์นิเจอร์ หรือจากอาหารที่คุณปล่อยไว้จนเน่าเสีย ราขึ้น ก็สามารถทำร้ายปอดของคุณได้ทั้งสิ้น เนื่องจากเชื้อรามีสปอร์ที่สามารถฟุ้งกระจายไปยังที่ต่างๆ ได้ หากเราสูดดมสปอร์เข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากหรือเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปอดติดเชื้อขั้นรุนแรงได้

    โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นภูมิแพ้เชื้อรา ผู้ที่เป็นโรคปอด เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ผู้เป็นโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ คุณจึงควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน เปิดบ้านเพื่อระบายอากาศ และทิ้งเศษอาหาร หรืออาหารที่ไม่กินแล้วทุกวัน จะได้ไม่มีเชื้อราสะสม

    2. ยาฆ่าแมลง

    ยาฆ่าแมลง ไม่ว่าจะเป็นประเภทดีดีที ที่นิยมใช้ฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงกวนใจในบ้าน เช่น แมลงสาบ ยุง มด แมลงวัน หรือยาปราบศัตรูพืชที่ใช้ฆ่าหญ้า มักมีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนประกอบ หากคุณกิน สัมผัส หรือสูดดมเข้าไป อาจส่งผลเสียต่ออวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายได้มากมาย เช่น ระบบประสาท ฮอร์โมน ตา ผิวหนัง รวมถึงปอดด้วย

    ฉะนั้น คุณจึงควรหลีกเลี่ยงยาฆ่าแมลงที่ทำจากสารเคมี และหันมาใช้วิธีกำจัดแมลงด้วยส่วนประกอบจากธรรมชาติแทน เช่น กำจัดเพลี้ยในต้นไม้ด้วยน้ำกระเทียม ไล่แมลงสาบด้วยแตงกวาสไลซ์ ไล่ยุงด้วยตะไคร้หอม หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรสวมหน้ากาก แว่นตา ถุงมือ และชุดป้องกันให้ดี และรีบอาบน้ำทันทีหลังใช้งานยาฆ่าแมลงเสร็จ

    3. เตาแก๊ส

    เตาแก๊สเป็นอีกหนึ่งตัวการทำลายปอดที่คุณอาจไม่ทันได้สังเกต เมื่อเราเปิดเตาแก๊ส แก๊สจะเผาไหม้เป็นเปลวไฟ จนเกิดสารเคมีที่เรียกว่าไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) ซึ่งสามารถทำอันตรายปอด ทำให้คุณไอ หายใจมีเสียงหวีด และกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เตาแก๊สหุงต้มเท่านั้น เพราะการจุดฟืน เผาไม้ จุดไฟเผาน้ำมันก๊าด ก็ก่อให้เกิดสารเคมีนี้ได้เช่นกัน

    เพื่อลดความเสี่ยง คุณควรทำติดตั้งเตาแก๊สในบ้านในถูกวิธี หมั่นทำความสะอาดและดูแลให้อยู่ในสภาพดี และต้องเช็กสายส่งแก๊สให้ดีด้วย หากมีจุดที่รั่วหรือชำรุด ต้องเปลี่ยนใหม่ทันที

    4. แป้งประกอบอาหาร

    คนที่ต้องสัมผัสกับแป้งประกอบอาหารเป็นประจำ เช่น เชฟขนมหวาน มักมีปัญหาไอ จาม หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบากกว่าปกติ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะต้องหายใจเอาแป้งประกอบอาหาร เช่น แป้งสาลี เข้าสู่ร่างกายเป็นประจำ อาการนี้เรียกว่า โรคหอบหืดในคนทำขนมปัง (Baker’s Asthma) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคหอบหืดจากการประกอบอาชีพ

    หากปล่อยไว้นานวัน อาจทำให้ปอดแย่ลง และไม่ใช่แค่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะมีปัญหาปอด เพราะผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ฝุ่นแป้งประกอบอาหารมักติดตามตัว เสื้อผ้า ผิวหนัง เส้นผมของเชฟ กลับไปที่บ้าน จนอาจทำให้คนในบ้านได้รับผลกระทบเช่นกัน

    5. แมลงสาบ

    ขี้แมลงสาบและซากแมลงสาบ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่เก็บทิ้ง อาจกลายเป็นฝุ่นผงเกาะติดอยู่ตามพื้น เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านคุณได้ และเมื่อคุณสูดดมขึ้นไป อาจทำให้ภูมิแพ้กำเริบหรือเกิดปัญหาในการหายใจ หากเป็นเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียน ก็อาจทำให้เด็กเป็นโรคหอบหืดได้ด้วย

    คุณจึงควรทำความสะอาดบ้าน และทำให้บ้านแห้งอยู่เสมอ หากพบขี้แมลงสาบหรือซากแมลงสาบต้องกำจัดทิ้งทันที พร้อมฆ่าเชื้อในบริเวณนั้น และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่

    6. พรม

    พรมที่ปูในบ้านอาจมีเชื้อรา สารพิษ คราบสิ่งสกปรก ขี้แมลงสาบ หรือไรฝุ่นสะสมอยู่ เมื่อสูดดมเข้าไปก็สามารถกระตุ้นอาการภูมิแพ้ และทำร้ายปอดได้ ยิ่งหากเป็นห้องที่ปูพรมเต็มพื้นห้อง สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและติดตั้งพรมก็ยังสามารถทำอันตรายปอดของคุณได้เช่นกัน

    ฉะนั้น หากบ้านคุณปูพรม คุณควรดูดฝุ่นที่พรมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง แนะนำพรมออกไปซักทำความสะอาดทุกๆ 6 เดือนด้วย

    7. ดอกไม้ไฟ

    เราอาจไม่ได้เข้าใกล้พลุ หรือดอกไม้ไฟกันบ่อยนัก แต่หากคุณคิดจะชมดอกไม้ไฟ หรือพลุที่จุดในเทศกาลต่างๆ เช่น วันลอยกระทง เราแนะนำให้คุณดูอยู่ห่างๆ จะดีที่สุด เพราะพลุและดอกไม้ไฟสีสันสวยงามที่คุณเห็นนั้นมักมีส่วนผสมของสารเคมี เช่น กำมะถัน ดินประสิว โพแทสเซียมเปอร์คลอเรต เมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กและโลหะหนักลอยคลุ้งอยู่ทั่วบริเวณ พอคุณสูดดมเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจส่วนอื่น โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ ฉะนั้น

    หากคุณจำเป็นต้องเข้าใกล้ หรือจุดพลุและดอกไม้ไฟ ก็ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง และชุดป้องกันประกายไฟ จะได้ช่วยลดความเสี่ยง

    8. ถุงลมนิรภัย

    ถุงลมนิรภัยทำมาจากโพลีเอไมด์หรือถุงไนลอนที่บรรจุแก๊สในโตรเจนในรูปแบบของโซเดียมเอไซด์ (Sodium Azide) เอาไว้ภายใน เมื่อมีแรงกระแทก เช่น ขณะเกิดอบัติเหตุ โซเดียมเอไซด์จะถูกจุดระเบิดทางเคมี และสลายตัวกลายเป็นแก๊สไนโตรเจนไหลเข้าไปในถุงลมนิรภัยที่พับอยู่ ทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อาจเข้าสู่ปอดและทำให้อาการของโรคหอบหืดกำเริบ หรือทำให้มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจได้ และหากคุณสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็อาจทำให้น้ำท่วมปอด ทำให้ผนังปอดระคายเคืองหรือติดเชื้อได้ด้วย ฉะนั้น หากคุณสงสัยว่าปอดมีปัญหาเพราะการทำงานของถุงลมนิรภัย ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    9. ธูปเทียน

    เทียนส่วนใหญ่ทำมาจากไขพาราฟินที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เมื่อเกิดการเผาไหม้จะปล่อยสารเคมีหลายชนิดเข้าสู่อากาศ พอสูดเข้าไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ และปัญหาในการหายใจ เช่น โรคหอบหืด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งได้

    เพื่อลดความเสี่ยง คุณไม่ควรจุดเทียนทุกวัน จะได้ไม่ต้องสูดดมสารเคมีจากการเผาไหม้ของเทียนติดต่อกันเป็นเวลานาน หากอยากจุดเทียน ควรจุดแบบนานๆ ที หรือใช้เทียนที่ทำจากขี้ผึ้ง หรือไขถั่วเหลือง

    นอกจากเทียนแล้ว ธูปก็เป็นอีกตัวการทำลายปอดที่คุณควรระวัง เพราะผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ควันธูปสามารถก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้ เช่น โรคหอบหืด และอาจทำให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว ต้องเพิ่มปริมาณยารักษาหอบหืดด้วย

    นอกจากนี้ ควันธูปยังอาจก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะหลายส่วนในร่างกาย เช่น ปวด ตับ จนนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ แนะนำว่าหากคุณอยากจุดธูปหรือเทียน ควรจุดในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อย่าจุดในห้องปิดทึบ

    10. นก

    เมื่อคุณสูดหายใจเอาอนุภาคในอากาศที่มีส่วนประกอบของขนนกและมูลนกเข้าไปมากๆ อาจทำให้ปอดอักเสบ และส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดกลายเป็นพังผืดแผลเป็น (Scar Tissue) จากการอักเสบ จนกระทบต่อการหายใจและการใช้ชีวิตในอนาคตได้ ภาวะนี้บางครั้งเรียกว่าโรคปอดของคนเลี้ยงนก (Bird fancier’s lung หรือ Pigeon breeder’s disease) หรือคุณหมออาจระบุว่าเป็นโรคปอดอักเสบภูมิไวเกิน (Hypersensitivity Pneumonitis)

    ฉะนั้น หากคุณพบว่าตัวเองมีไข้ ไอ หอบ หลังจากสัมผัสกับนกหรือมูลนก ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที และเพื่อป้องกันความเสี่ยง หากบริเวณบ้านมีขี้นกสะสมอยู่เยอะ หรือมีนกมาทำรัง โดยเฉพาะนกพิราบ ควรรีบกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธีทันที

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 18/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา