ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือที่เรียกว่าปอดบวมจากเชื้อไวรัส เป็นโรคปอดติดเชื้อชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการจาม และการไอ เมื่อสูดดมนำเชื้อที่ลอยฟุ้งตามอากาศเข้าไปในทางเดินหายใจ หรือนำมือไปสัมผัสกับสิ่งของรอบตัวจนมาสัมผัสกับใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณปาก และจมูก
คำจำกัดความ
ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส คืออะไร
ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส คือ โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสหลายชนิดที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่อาจจะมีความรุนแรง หรือเผยอาการให้เห็นชัดขึ้น เมื่อเชื้อไวรัสเดินทางลงสู่ปอด จนปอด และถุงลมเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ คือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปี หรือผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
อาการ
อาการของ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
ระยะแรกอาการของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสมักมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาจส่งผลให้เผยอาการที่ต่างออกไปจากไข้หวัด ดังนี้
- อุณหภูมิของร่างกายสูง ไข้ขึ้น
- รู้สึกหนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- หายใจถี่
- มีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ หรือไอ
- ไอแห้ง และมีแนวโน้มไอแบบมีเสมหะในเวลาถัดมา
- เจ็บคอ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ความรู้สึกอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร
สาเหตุ
สาเหตุของ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสที่สามารถนำไปสู่โรคปอดอักเสบ มีดังต่อไปนี้
- ไวรัสสายพันธุ์เอ และไวรัสสายพันธุ์บี จากไข้หวัดใหญ่ พบได้บ่อยในช่วงวัยผู้ใหญ่
- ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่พบได้มากในทารก และเด็ก
- ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นไวรัสที่อาจทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบ และไข้หวัด
- ไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (varicella-zoster virus) ที่สามารถส่งผลให้เป็นโรคงูสวัดร่วมด้วย
ปัจจุบันยังมีเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก และมีหลากหลายสายพันธุ์ที่สามารถสร้างความเสียหายให้ระบบทางเดินหายใจ จนเกิดการติดเชื้อนำไปสู่โรคปอดอักเสบได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2563 ให้การระบาดของไวรัสนี้เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก (Pandemic) และควรเฝ้าระวัง นับว่าเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่ควรประมาท เพราะอาจส่งผลเสียอย่างหนักในระบบทางเดินหายใจ
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอักเสบจากไวรัส คือ
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
- พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ร่างกายขาดแร่ธาตุ และวิตามิน
- สูดดมควันพิษ และมลพิษทางอากาศมากเกินไป
- ผู้ที่กำลังรักษาตัวจากการผ่าตัด
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ติดเชื้อเอชไอวี
- อยู่ในสถานที่ที่แออัด มีผู้คนจำนวนมาก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ด้วยวิธีทางการแพทย์ ได้แก่
- สอบถามประวัติของโรคประจำตัว และอาการของผู้ป่วย
- เอ็กซ์เรย์ทรวงอก
- ตรวจเลือด และทำการนับเม็ดเลือดในห้องปฏิบัติการ
- ตรวจโพรงจมูก หรือเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อในโพรงจมูก และในช่องปากเพื่อนำไปตรวจหาไวรัส
- วัดชีพจร และตรวจออกซิเจนในเลือด
การรักษาปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
คุณหมออาจทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพอรามิเวียร์ (Peramivir) ยาไรบาวิริน (Ribavirin) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส และกำหนดยาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น เช่น ยาบรรเทาอาการไอ ยาขับเสมหะ ในบางรายเท่านั้น เพราะการไอเป็นกระบวนการธรรมชาติของร่างกายที่ช่วยขจัดเชื้อออกจากปอด
หากปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสส่งผลให้เกิดอาการในระดับรุนแรง โดยเฉพาะกับช่วงวัยเด็ก และผู้สูงอายุ อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้คุณหมอทำการรักษา และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
ผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสอาจสามารถหายได้ด้วยตนเอง หรืออาจมีอาการที่ดีขึ้นประมาณ 1-3 สัปดาห์ เมื่อดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำปริมาณมากเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกในปอด ที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างจากผู้คนรอบข้าง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่