backup og meta

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร และควรรับมืออย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไรไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไรสาเหตุของ ไข้หวัดใหญ่ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่การวินิจฉัยและการรักษาไข้หวัดใหญ่การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

[embed-health-tool-heart-rate]

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่ (Flu หรือ Influenza) เป็นการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาที่ระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก ลำคอ ไปจนถึงปอด เมื่อเป็นแล้วอาจมีทั้งอาการไม่รุนแรงมาก เช่น ปวดศีรษะ มีน้ำมูก หนาวสั่น ปวดเมื่อยตัว มีไข้สูง ไปจนถึงอาการที่รุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ผ่านทางการไอหรือจาม หรือหากมือไปสัมผัสโดนสิ่งของต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วไปสัมผัสกับบริเวณใบหน้า ดวงตา ปาก หรือจมูก ก็อาจทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้

ไข้หวัดใหญ่ อาการ เป็นอย่างไร

เมื่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะการฟักตัวประมาณ 1-3 วัน และอาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

  • ไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ คอแห้ง
  • ไอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ

นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็ก

ควรพบแพทย์เมื่อใด

โดยปกติ ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากสังเกตพบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

  • หายใจไม่ออก หายใจลำบาก
  • ปอดอักเสบ ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการเจ็บร้าวที่ไหล่หรือสีข้างเมื่อไอ ไข้สูง หนาวสั่น เป็นต้น
  • เจ็บหน้าอก
  • อาการชัก
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง

หากเด็กเป็น ไข้หวัดใหญ่ อาการ ที่พบ อาจมีดังนี้

  • ปากและนิ้วมือเป็นสีม่วงคล้ำ
  • หายใจไม่ออก หายใจลำบาก
  • ภาวะขาดน้ำ อาจสังเกตได้จากอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ปวดศีรษะ เป็นต้น
  • อาการชัก
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง

สาเหตุของ ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และอาจกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทุกปี อย่างไรก็ตาม ไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ ดังนี้

  • อินฟลูเอนซา A เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วโลก สามารถแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยได้อีก คือ H1N1, H1N2, H3N2, H5N1 และ H9N2
  • อินฟลูเอนซา B เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในระดับชุมชน ไม่มีการแบ่งสายพันธุ์ย่อย

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่

ปัจจัยเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่ อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ติดเชื้อ HIV อาจเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย และอาจมีอาการนานกว่าปกติ
  • อายุ ไข้หวัดใหญ่มักพบได้บ่อยในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน-5 ปี และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • สภาพแวดล้อม ผู้ที่ต้องดูแลคนป่วย ผู้ที่ต้องพบปะคนจำนวนมาก อาจเสี่ยงรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย
  • โรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน อาจเพิ่มความความเสี่ยงให้เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์

การวินิจฉัยและการรักษาไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

แพทย์จะซักประวัติและตรวจดูอาการเบื้องต้น จากนั้นอาจตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) ด้วยการป้ายคอหรือจมูก เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งไปตรวจหาเชื้อไวรัส โดยสามารถตรวจไข้หวัดใหญ่และโควิด-19ไปพร้อม ๆ กันได้
  • การตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่อย่างรวดเร็ว (Rapid Influenza Diagnostic Tests หรือ RIDTs) เป็นการทดสอบหาแอนติเจน (Antigens) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 15 นาที แต่ไม่สามารถแยกแยะสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้

การรักษาไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่อาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อไวรัส ช่วยให้หายไวขึ้น และช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไวรัสอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหาร และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่

การดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และช่วยขับปัสสาวะ
  • ใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและลดไข้
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหรือพบปะผู้คน เพื่อลดการแพร่กระจายโรค

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่

วิธีการดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้

  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านและพบปะผู้คน
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ และช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการเกิดไข้หวัดใหญ่
  • ไม่ควรนำมือมาสัมผัสใบหน้า จมูก และปาก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
  • ปิดปากทุกครั้งที่ไอและจาม
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้าน โดยเฉพาะพื้นผิวต่าง ๆ ที่ต้องสัมผัสเป็นประจำ เช่น โต๊ะ ประตู เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อช่วยเสริมสร้างร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13. Accessed January 13, 2023.

Influenza (flu). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719. Accessed January 13, 2023.

Influenza (Flu). https://www.cdc.gov/flu/symptoms/index.html. Accessed January 13, 2023.

Flu. https://www.nhs.uk/conditions/flu/. Accessed January 13, 2023.

Flu (Influenza). https://www.nfid.org/infectious-diseases/influenza-flu/. Accessed January 13, 2023.

Types of Influenza Viruses. https://www.cdc.gov/flu/about/viruses/types.htm. Accessed January 13, 2023.

Cold Versus Flu. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/coldflu.htm. Accessed January 13, 2023.

Preventive Steps. https://www.cdc.gov/flu/prevent/prevention.htm. Accessed January 13, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไข 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา