ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยในโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ทุกช่วงวัย แต่อาจพบมากและมีอาการรุนแรงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บุคคลที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และสตรีตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงควรศึกษาความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 สายพันธุ์ รวมถึงอาการและวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-heart-rate]
ความแตกต่างของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีความแตกต่างกัน คือ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงมากกว่า สามารถกลายพันธุ์และก่อให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง และสามารถก่อให้เกิดการแพร่เชื้อได้ทั้งในคน และในสัตว์ เช่น หมู นก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ยังแบ่งออกเป็นชนิดย่อย โดยตรวจได้จากไกลโคโปรตีนรอบของเชื้อไวรัส (Surface glycoprotein) ซึ่งประกอบด้วย ฮีแมกกูตินิน (Hemagglutinin : H) ซึ่งมีทำหน้าที่ในการจับกับตัวรับ (Receptor) บนเซลล์ของร่างกาย ส่งผลให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ได้โดยตรง และเอ็นไซม์นิวรามินิเดส (Neuraminidase : N) เป็นเอ็นไซม์ย่อยที่ทำให้ไวรัสให้จับกับเซลล์ และแพร่เชื้อต่อไปได้ ซึ่งในสัตว์จะมีเชื้อไวรัสฮีแมกกูตินิน หรือ H อยู่ 15 ชนิด และเอ็นไซม์นิวรามินิเดส หรือ N 9 ชนิด แต่สำหรับของคนจะมี H3 ชนิดคือ H1 H2 H3 และ N 2 ชนิด คือ N1 N2 นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ H5 และ H7 ที่มีความรุนแรงสูง อาจแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ ยกตัวอย่าง ไข้หวัดนก (Avian influenza: H5N1) ที่มีการะบาดบางพื้นที่ของประเทศไทย
โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เกิดได้กับคนเท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงของไวรัสได้ช้ากว่าไวรัสชนิด A โดยแบ่งออกเป็น 2 สายพันธ์ุ ได้แก่ Yamagata และ Victoria ซึ่งทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ล้วนปรากฏอาการในรูปแบบที่คล้ายกันกันตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงขั้นรุนแรง ตามแต่สภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล
อาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 สายพันธุ์ มีดังนี้
- ปวดศีรษะ
- เจ็บคอ
- อาการไอ
- รู้สึกหนาวสั่น
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- รู้สึกเหนื่อยล้า ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีไข้
- เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย อาเจียน (พบบ่อยในเด็ก)
อาการในระดับรุนแรง ที่ควรเข้าพบแพทย์อย่างทันท่วงที ได้แก่
- เจ็บหน้าอก
- หายใจถี่เร็ว
- มีไข้ขึ้นสูง
- วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง
- อาการชัก และหมดสติ
ไข้หวัดใหญ่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ชนิดใดรุนแรงกว่ากัน
โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรง และแพร่กระจายได้เร็วกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B และเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่อาจพบได้บ่อยในช่วงวัยผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีงานวิจัยจากสถาบัน Infectious Diseases Society of America ที่รายงานว่าเด็กอายุ 10-16 ปี ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาตัวมากกว่าเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใดก็อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้ เนื่องจากภาวะสุขภาพ และการดูแลตัวเองของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามหากไข้หวัดทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ไม่ว่ากับช่วงวัยใด ควรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากคนสู่คนไปได้เรื่อย ๆ ทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกเป็นวงกว้างได้
การรักษาไข้หวัดทั้งสองสายพันธุ์
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B แพทย์อาจกำหนดยาต้านไวรัสชนิดต่าง ๆ และยารักษาตามอาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยเป็น ได้แก่
- ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir)
- ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir)
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)
ที่สำคัญควรดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เยอะ ๆ และงดพบปะผู้คน หรือออกไปนอกบ้านในยามที่ป่วย หากมีเหตุจำเป็นควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่บุคคลอื่น ๆ ภายนอก