backup og meta

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้สูงอายุยิ่งฉีดไว ยิ่งลดความเสี่ยงโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้สูงอายุยิ่งฉีดไว ยิ่งลดความเสี่ยงโรค

    การฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อกันได้ง่าย เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ Influenza A และ Influenza B ทำให้มีอาการ เช่น เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย บางคนอาจอาเจียนหรือท้องเสีย หรืออาจมีอาการของไข้หวัดใหญ่โดยที่ไม่มีไข้ก็ได้

    โรคไข้หวัดใหญ่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่ความเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ จะยิ่งสูงขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยเร็วที่สุด

    ทำไมผู้สูงอายุถึงควรฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่

    วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่และอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คนทุกเพศทุกวัยควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

    ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าคนวัยอื่น และถึงแม้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ทำให้อาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดีเท่าคนวัยอื่น แต่งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดสภาวะทางการแพทย์หรือการเจ็บป่วยเนื่องจากไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบไหน เหมาะกับผู้สูงอายุ

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของตัวเอง แต่ไม่ควรใช้วัคซีนพ่นจมูก โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent Influenza Vaccine) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1)
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2)
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata (B/Yamagata lineage)
    • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria (B Victoria Lineage หรือ B Yamagata ตามประกาศสายพันธุ์แต่ละปีขององค์การอนามัยโลก)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (Trivalent Influenza Vaccine) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1)
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H3N2)
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria (B/Victoria lineage)
  • อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ อาจเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีรอยบวมแดง หรือเจ็บบริเวณรอยเข็ม แต่ก็ถือเป็นอาการข้างเคียงที่พบได้ปกติ และหากผู้สูงอายุเพิ่งเคยรับการฉีดวัคซีนครั้งแรก ก็อาจทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการอ่อนเพลีย ประมาณ 1-2 วัน แต่อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก หากเทียบกับอาการที่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

    ผู้สูงอายุกลุ่มไหน ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    แม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีประโยชน์ แต่ผู้สูงอายุที่มีสภาวะต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    • เคยเข้ารับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนอื่นๆ แล้วมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีนที่รุนแรง
    • เคยเกิดกลุ่มอาการทางตาและทางเดินหายใจ (Oculo-Respiratory Syndrome หรือ ORS) ขั้นรุนแรง หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอาการของกลุ่มอาการนี้ คือ มีอาการตาแดงร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ได้แก่ หายใจลำบาก ไอ เจ็บคอ หอบ แน่นหน้าอก หน้าบวม
    • อยู่ในช่วงเข้ารับการรักษามะเร็งด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มที่ยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors)
    • เกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain–Barré syndrome หรือ GBS) ที่ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต โดยไม่ทราบสาเหตุ ภายใน 4 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

    หากผู้สูงอายุเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรทำอย่างไรดี

    เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง ฉะนั้น หากมีอาการหรือสัญญาณของไข้หวัดใหญ่ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาและการดูแลที่เหมาะสมที่สุด หากเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรง แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัส และยาต้านไวรัสจะทำงานได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเริ่มใช้ยารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ นั่นก็คือ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ และนอกจากรับประทานยาแล้ว ผู้สูงอายุและคนรอบข้างก็ควรดูแลไม่ให้เชื้อไข้หวัดใหญ่แพร่กระจาย ด้วยวิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไอจาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา