มะเร็ง คือโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ดีของร่างกายถูกทำลาย และก่อให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนแข็งใต้ผิวหนังหรือเนื้องอกชนิดร้าย โดยอาจสังเกตได้จากอาการไอเรื้อรัง มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เหนื่อยล้า รู้สึกเบื่ออาหาร กลืนอาหารลำบาก ปวดกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีสัญญาณเตือนดังกล่าว ควรเข้าตรวจคัดกรองมะเร็ง หากพบว่าเป็นมะเร็งจะได้ รักษามะเร็ง ได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับข้อควรพิจารณาก่อนเข้ารับ การรักษามะเร็ง ตามคำแนะนำของคุณหมอ เพราะอาจช่วยให้สามารถเลือกวิธีการรักษามะเร็งได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาได้ด้วย
[embed-health-tool-heart-rate]
สาเหตุของโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ ในดีเอ็นเอมียีนจำนวนมาก โดยยีนมีหน้าที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมและควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย หากยีนผิดปกติหรือกลายพันธุ์ก็อาจส่งผลให้เซลล์เจริญเติบโตมากและเร็วกว่าปกติ จนอาจพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้
อีกทั้งปัจจัยดังต่อไปนี้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
- อายุ คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นมะเร็งได้ แต่อาจใช้เวลานานหลายปีกว่าเซลล์จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งและแสดงอาการ จึงอาจพบโรคมะเร็งได้บ่อยในผู้สูงอายุ
- พันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง ความผิดปกติดังกล่าวอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
- ภาวะสุขภาพ เช่น ลำไส้ใหญ่บวม โรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิด หากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติควรปรึกษาคุณหมอทันที
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การตากแดดเป็นเวลานาน การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยลดความเสี่ยงได้
- สภาพแวดล้อม สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องทำงานที่สัมผัสกับสารเคมีที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน สารหนู เบนซีน บ่อยครั้ง หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเป็นมะเร็งได้มากขึ้น ดังนั้น จึงควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการสัมผัสกับสารอันตรายเพื่อลดความเสี่ยง
ข้อควรพิจารณาก่อน รักษามะเร็ง
หากวินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็ง ควรเข้ารับการรักษามะเร็งโดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรค อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาหรือพิจารณาเกี่ยวกับวิธีรักษามะเร็ง ผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษามะเร็ง โดยข้อควรพิจารณาก่อนรักษามะเร็ง อาจมีดังนี้
- คุณหมอและโรงพยาบาล การรักษามะเร็งส่วนใหญ่ คุณหมออาจจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์หลายสาขา เช่น ด้านรังสีรักษา ด้านการผ่าตัด ก่อนตัดสินใจเข้าเข้ารับการรักษามะเร็ง ผู้ป่วยอาจศึกษาประวัติ ผลงาน หรือประสบการณ์ของคุณหมอ หรือสถานพยาบาลได้ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นมะเร็งหายาก รวมถึงควรพิจารณาเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย เนื่องจากการรักษามะเร็ง อาจใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี และอาจมีค่าใช้จ่ายสูง
- วิธีรักษามะเร็ง ควรสอบถามคุณหมอเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับชนิด อาการ ระยะของโรค ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เป็นต้น หรืออาจศึกษาการรักษามะเร็งแต่ละวิธีเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์หรือหนังสือที่เชื่อถือได้ แล้วลองเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย อัตราการหายจากมะเร็ง ผลข้างเคียง และความเสี่ยงให้รอบคอบก่อนตัดสินใจรักษา ไม่ควรด่วนตัดสินใจเลือกวิธีรักษามะเร็งเพราะถูกกดดัน หากกังวลใจหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้เลือกวิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเองได้เหมาะสมและส่งเสริมสุขภาพได้ดีที่สุด
- รูปแบบการใช้ชีวิต การรักษามะเร็งอาจใช้ระยะเวลานาน จนส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ผู้ป่วยจึงอาจจำเป็นต้องขอให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนช่วยจัดการธุระหรือกิจกรรมบางอย่างแทน เช่น ไปรับ-ส่งลูก ทำงานบ้าน จ่ายตลาด การวางแผนเกี่ยวกับกิจกรรมที่ต้องทำและผู้ที่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมนั้น ๆ แทนตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษามะเร็ง อาจช่วยลดปัญหาหรืออุปสรรคที่ต้องเผชิญในการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงรักษามะเร็งได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วย ควรเข้าพบคุณหมอพร้อมผู้ป่วย และขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยจากคุณหมอ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
วิธี การรักษามะเร็ง
วิธีรักษามะเร็งมีหลายวิธี การเลือกวิธีที่เหมาะสมอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยบางรายอาจต้องผ่าเอาเซลล์มะเร็งออกทั้งหมด หรืออาจต้องผ่าตัดควบคู่กับการฉายรังสี หรือการทำเคมีบำบัด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ และบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษาได้
วิธีรักษามะเร็งด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกให้ได้มากที่สุด การผ่าตัดรักษามะเร็งมีทั้งการผ่าตัดแบบใช้มีดผ่า การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น โดยแต่ละวิธีอาจมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น การผ่าตัดส่องกล้องอาจมีแผลผ่าตัดเล็กที่สุด อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัดอาจทำมีผลข้างเคียง คือ เจ็บปวด เสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัด ผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- การฉายรังสี อาจช่วยให้เนื้องออกหดตัว หยุดการเจริญเติบโตของเนื้องอก และส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด วิธีนี้อาจลดโอกาสในการกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำ แต่อาจต้องใช้เวลารักษานานและต้องเข้ารับการฉายรังสีหลายครั้ง ในบางกรณีอาจต้องรักษาควบคู่กับการผ่าตัด
- เคมีบำบัด อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดขนาดมะเร็ง และบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ หากรักษาควบคู่กับการผ่าตัดและฉายรังสีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงระดับเบา เช่น มีแผลในช่องปาก ผมร่วง คลื่นไส้ เหนื่อยล้า จึงควรมีผู้ดูแลทุกครั้งที่เข้ารับเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเจริญเติบโตและต่อสู้กับมะเร็งให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยต้องเข้ารับภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
- ฮอร์โมนบำบัด อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ ควรรักษาควบคู่กับการฉายรังสีและการผ่าตัด ฮอร์โมนบำบัดอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ เหนื่อยล้า อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความต้องการทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง หน้าอกโตในผู้ชาย
- การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า การรักษามะเร็งด้วยยาหรือโปรตีนที่เรียกว่า โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal antibody) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับตับและทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง รวมถึงอาจทำให้มีผื่นขึ้น ผิวแห้ง ผมร่วง มีแผลในช่องปาก เป็นต้น
- การให้ความร้อนเฉพาะที่หรือไฮเปอร์เธอเมีย (Hyperthermia) เป็นการทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ต้องการหรือบริเวณก้อนมะเร็งร้อนขึ้นด้วยความร้อนประมาณ 45 องศาเซลเซียสจากคลื่นวิทยุความถี่ 8 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่ออื่นโดยรอบ แต่อาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว มีแผลไหม้หรือแผลพุพอง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนได้
- การจี้หรือสลายเนื้องอกด้วยความเย็น (Cryoablation) คุณหมออาจสอดเข็มบรรจุไนโตรเจนเหลวเข้าไปที่ก้อนมะเร็งผ่านแผลขนาดเล็กที่กรีดเอาไว้ ไนโตรเจนเหลวอาจทำให้ก้อนมะเร็งเป็นน้ำแข็งและตายในที่สุด
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ อาจไม่ใช่วิธีรักษามะเร็งโดยตรง แต่อาจช่วยฟื้นฟูหรือสร้างสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง ที่ถูกทำลายจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี เป็นต้น ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เช่น การติดเชื้อ ภาวะเลือดออกผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับ ตับ ลำไส้ หรือผิวหนัง