backup og meta

Overt DM คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ การรักษา

Overt DM คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สาเหตุ อาการ การรักษา

Overt DM หรือ Pregestational DM คือ ภาวะเบาหวานที่คุณแม่นั้นเป็นมาก่อนตั้งครรภ์ สามารถเป็นได้ทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่อาจเกิดจากการที่ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้เผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่รับการรักษาหรือควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

Overt DM คืออะไร

Overt DM ย่อมาจาก Overt Diabetes Mellitus คือ ภาวะเบาหวานที่เป็นมาตั้งเเต่ก่อนตั้งครรภ์ โดยพบได้ในคุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ด้วย

ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะที่คุณเเม่มีความดันโลหิตสูงมากจนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด อาการชัก หมดสติ เเละเสียชีวิต
  • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ ส่งผลให้คลอดยากกว่าปกติ
  • ทารกตัวเหลืองหรือเป็นดีซ่าน
  • ทารกอาจเสี่ยงต่อภาวะหายใจลำบาก
  • ทารกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้น ได้มากกว่าเด็กทั่วไป
  • ทารกอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชัก

สาเหตุของ Overt DM

สาเหตุของ Overt DM แบ่งออกตามชนิดของโรคเบาหวานที่คุณแม่เป็นก่อนที่จะตั้งครรภ์เป็น ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมน อินซูลิน ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเองที่ไปทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลิน จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เเละเกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุมาจากร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง หรือที่เรียกว่าดื้ออินซูลิน จึงทำให้ไม่อาจนำน้ำตาลมาเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานได้เหมาะสม จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์ นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของ Overt DM

อาการของ Overt DM อาจสังเกตได้ดังนี้

  • กระหายน้ำบ่อย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น หิวบ่อย
  • รู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
  • ไม่มีอาการแสดง (หากระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากนัก คุณเเม่มักจะยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ)

การรักษาอาการ Overt DM

การรักษาอาการ Overt DM อาจทำได้ดังนี้

ฉีดอินซูลิน

นับเป็นการรักษาหลักของภาวะ overt DM ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคุณเเม่มักจะจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วย อินซูลิน (แต่ก็มีคุณเเม่บางส่วนที่สามารถควบคุมอาหารเเล้วระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินในการรักษา) ภาวะ overt DM นี้ ควรรีบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายให้ได้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของคุณเเม่ และ ลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นหากคุณหมอพิจารณาเเล้วว่าต้องรับการรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน จึงควรเริ่มการรักกษาให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นตั้งเเต่เมื่อทราบว่า ตั้งครรภ์ โดยคุณหมอจะกำหนดขนาดยาและชนิดของอินซูลินที่ใช้ฉีดซึ่งจะเเตกต่างกันไปในเเต่ละบุคคลเเละจะมีการปรับตามความเหมาะสมไปตามภาวะสุขภาพ รวมถึงอายุครรภ์  โดยชนิดของอินซูลินที่ใช้ในคุณเเม่มีภาวะ overt DM มีดังนี้

  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาทีหลังฉีด จึงแนะนำให้ฉีดอินซูลินชนิดนี้ก่อนรับประทานอาหาร 10 – 15 นาทีและออกฤทธิ์ได้นาน 2-4 ชั่วโมง มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีด ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดอินซูลินชนิดนี้ก่อนรับประทานอาหาร 30 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 3-6 ชั่วโมง มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง
  • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง (Intermediate-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 12-18 ชั่วโมง คุณหมอจะใช้อินซูลินชนิดนี้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลโดยตลอดทั้งวัน มักใช้จะต้องฉีด 2 ครั้ง คือ ช่วงช้า และ ก่อนนอน เเละใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์สั้น

รับประทานยา

โดยทั่วไปเเล้วจะไม่แนะนำในคุณเเม่ตั้งครรภ์ใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน เนื่องจากยาส่วนมากไม่มีข้อมูลยืนยันเเง่ความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เเต่อาจมียาบางชนิด ที่มีข้อมูลว่าสามารถใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์ คือ ยาเมตฟอร์มิน (Metformin) เเละไกบูไรด์ (Glyburide)

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตัวเอง

  • เพิ่มการขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นด้วยการเดิน ทำงานบ้าน หรือออกกำลังกายระดับเบา อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเเม่ และ ทารกในครรภ์ โดยอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมคุณหมอได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น อาหารแปรรูป ของทอด ของหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำและจดบันทึกข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงช่วงเวลาการตรวจ เพื่อประเมินว่าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้คุณหมอสามารถปรับเพิ่ม / ลด ปริมาณยาฉีดอินซูลินให้เหมาะสมกับคุณแม่ได้มากที่สุด
  • ตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองโรคเมื่อวางแผนตั้งครรภ์ และในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้าพบคุณหมอตามกำหนดทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444.Accessed August 10, 2022.

Pregestational Diabetes Mellitus. https://www.acog.org/clinical/clinical-guidance/practice-bulletin/articles/2018/12/pregestational-diabetes-mellitus.Accessed August 10, 2022.

Overt Diabetes in Pregnancy. https://link.springer.com/article/10.1007/s13300-022-01210-6.Accessed August 10, 2022.

Diabetes During Pregnancy: Risks to the Baby. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P02354.Accessed August 10, 2022.

gestational diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gestational-diabetes/diagnosis-treatment/drc-20355345.Accessed August 10, 2022.

Types of Insulin. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/type-1-types-of-insulin.html.Accessed August 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เป็นเบาหวานตอนท้อง ควรทำอย่างไร

ผลไม้ที่คนเป็นเบาหวานกินได้ และผลไม้ที่ควรเลี่ยง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 12/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา