backup og meta

แม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลูกจะเป็นไรไหม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    แม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลูกจะเป็นไรไหม

    แม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลูกจะเป็นไรไหม อาจเป็นคำถามที่เหล่าคุณแม่สงสัยและเกิดความกังวลใจ เนื่องจากภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ทารกตัวใหญ่ ทารกแรกคลอดมีน้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจพิการแต่กำเนิด หรือแท้งบุตร ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งออกกำลังกายและรักษาน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ไม่ให้ขึ้นมากจนเกินไป อาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

    เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

    เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ โรคเบาหวานประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนช่วงที่ตั้งครรภ์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ทารกตัวใหญ่ ทารกมีน้ำตาลในเลือดต่ำเมื่อแรกคลอด รวมถึงอาจเพิ่มเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วนในอนาคต ส่วนใหญ่แล้ว เบาหวานขณะตั้งครรภ์นี้มักถูกวินิจฉัยในช่วงอายุครรภ์ที่ 24-32 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มักหายได้เองหลังคลอด เนื่องจากฮอร์โมนกลับเข้าสู่สมดุลแต่พบว่าคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตมากขึ้นกว่าผู้หญิงที่อายุเท่ากัน

    แม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลูกจะเป็นไรไหม

    เมื่อคุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารกในครรภ์ได้ ดังนี้

    • ทารกตัวใหญ่ หรือน้ำหนักแรกเกิดมากเกินไป คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และมีน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวใหญ่กว่าเกณฑ์ได้ และอาจส่งผลให้คลอดธรรมชาติได้ยาก และอาจจำเป็นต้องผ่าคลอด
    • การคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้วควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี อาจมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น
    • ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (Respiratory Distress Syndrome หรือ RDS) เป็นภาวะที่พบได้ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากปอดและทางเดินหายใจของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จึงอาจทำให้ทารกหายใจลำบากอย่างรุนแรง บางรายอาจจำเป็นต้องดูอาการอย่างใกล้ชิดในห้องฉุกเฉิน
    • ทารกมีน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด เนื่องจากเมื่อคุณแม่มีน้ำตาลในเลือดสูง ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะได้รับน้ำตาลที่สูงจากคุณแม่ผ่านทางสายสะดือตามไปด้วย ทำให้ทารกต้องผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาในปริมาณสูงขึ้นเพื่อจัดการกับน้ำตาล แต่เมื่อทารกคลอด คุณหมอจะตัดสายสะดือออก ทารกจึงไม่ได้รับน้ำตาลเพิ่มอีก แต่ร่างกายยังคงมีอินซูลินจำนวนมากอยู่ จึงส่งผลให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นอันตรายเนื่องจากอาจทำให้ทารกซึม หรือชักได้
    • ภาวะน้ำหนักเกินและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าทารกที่มีคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อเติบโตขึ้นอาจมีความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกิน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าเด็กทั่วไป
    • ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด มีรายงานพบว่า หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีตั้งแต่อายุครรภ์แรก ๆ เนื่องจากคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์มีภาวะหัวใจที่ผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หลอดเลือดใหญ่ของเส้นเลือดหัวใจทารกสลับข้างกัน 
    • ทารกในครรภ์เสียชีวิต คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ 

    การป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    สำหรับการป้องกันเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลต่อลูกน้อย

    รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ

    ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้ครบ 5 หมู่ เน้นเลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง ไขมันและน้ำตาลต่ำ เช่น ผักและผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันและไม่ติดหนัง เพื่อให้ตัวคุณเเม่เองและทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป และช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

    ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ สามารถช่วยลดโอกาศเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ โดยขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป และมีความเหนือยปานกลาง โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระแทก หรือการปะทะ ยกตัวอย่างเช่น เดิน เต้นแอโรบิกในน้ำหรือบนบก ว่ายน้ำ โยคะ ประมาณ 30 นาที/วัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์

    รักษาน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์

    ระหว่างตั่งครรภ์ คุณแม่ควรรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดย

    • หากก่อนตั้งครรภ์มีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 12.5-18 กิโลกรัม
    • หากก่อนตั้งครรภ์มีดัชนีมวลกาย (BMI) 18.5-24.9 น้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 11.5-16 กิโลกรัม
    • หากก่อนตั้งครรภ์มีดัชนีมวลกาย (BMI) 25-29.9 น้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 7-11.5 กิโลกรัม
    • หากก่อนตั้งครรภ์มีดัชนีมวลกาย (BMI)มากกว่า 30 น้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ควรเพิ่มขึ้นเพียง 5-9 กิโลกรัม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา