backup og meta

โรคเบาหวาน ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และการป้องกันโรคเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 11/08/2022

    โรคเบาหวาน ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และการป้องกันโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวาน ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง อาจเป็นคนถามที่หลายคนสงสัย ซึ่งโรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หากปล่อยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสะสมเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบขับถ่าย ระบบประสาท 

    ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ โรคเบาหวาน

    โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อาการมือและเท้าชา ผิวแห้ง โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ภาวะอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันอย่าง การขาดออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เป็นต้น

    โรคเบาหวาน ผลกระทบ การป้องกัน 

    ผลกระทบจากโรคเบาหวาน

    หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ดังนี้

    • ระบบไหลเวียนโลหิต

    ผู้ป่วย โรคเบาหวาน มักจะมีความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจทำงานหนัก อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานยังมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเปราะแตกง่าย จนทำให้เกิดแผล เมื่อหลอดเลือดเกิดแผลก็จะทำให้ไขมันสะสมในหลอดเลือดมากขึ้น จนทำให้หลอดเลือดตีบและแคบลง จนระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่เต็มที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง

    • หลอดเลือด

    ระดับน้ำตาลในเลือดส่วนเกินอาจทำให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้หลอดเลือดตีบและแคบ ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่เต็มที่ ร่างกายก็จะได้รับเลือดและออกซิเจนที่ลดลง จนเพิ่มความเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเกิดความเสียหาย

    ความดันโลหิตสูง เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ กรมควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ได้ให้ข้อมูลว่าร้อยละ 74 ของผู้ใหญ่ที่เป็น โรคเบาหวาน มักจะมีความดันโลหิตสูงด้วย

    • ระบบหัวใจและหลอดเลือด

    ข้อมูลจากกรมควบคุมและป้องกันโรค ให้ข้อมูลว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตช่วงต้นของผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจบางรูปแบบมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานถึง 2-3 เท่า

    • ระบบขับถ่าย

    ความเสียหายของระบบประสาทส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร เมื่อเส้นประสาทถูกทำลายอาจทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวได้ช้า จนไม่สามารถย่อยอาหารได้  ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และปวดท้อง

    • บาดแผลและการติดเชื้อ

    ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการเท้าชา มือชา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป

  • ระบบไต
  • ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ อาจทำให้ระบบไหลเวียนเลือด ที่ไปยังไตเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดโปรตีนในปัสสาวะในปริมาณที่สูง ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติซึ่งอาจทำไปสู่ภาวะไตวายได้ 

    • ระบบประสาท

    ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ระบบประสาทถูกทำลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทได้หลายส่วนตั้งแต่การเคลื่อนไหว การย่อยอาหาร ไปจนถึงเพศ และระบบสืบพันธ์ุ มักส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณเท้า เหงื่อออกมากกว่าปกติ ไม่มีอารมณ์ทางเพศ

    • ระบบปกคลุมร่างกาย (Integumentary System) 

    ระบบปกคลุมร่างกาย เป็นระบบอวัยวะที่อยู่นอกสุดของร่างกาย เช่น ผิวหนัง เส้นผม เล็บ รูขุมขน ซึ่งโรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบต่อผิวหนัง ที่เป็นอวัยวะปกคลุมร่างกายที่ใหญ่ที่สุดได้ด้วย เช่น ทำให้ผิวหนังแห้ง ผื่นแดง พุพอง ผื่นคัน เกิดปื้นดำตามร่างกาย (Acanthosis Nigricans)

    • สายตา

    ปัญหาสายตา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดเรตินาที่จอตาเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัด ต้อหิน ต้อกระจก หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น

    • สุขภาพทางเพศ

    ความเสียหายของหลอดเลือดและระบบประสาทที่เกิดจาก โรคเบาหวาน อาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพทางเพศและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานบางราย มีความต้องการทางเพศต่ำ เบื่อการมีเซ็กส์และเกิดภาวะการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

    การป้องกันโรคเบาหวาน

    วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน มีดังนี้ 

    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช 
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
    • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยมีค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5-22.90 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 11/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา