โรคเบาหวาน คือ โรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ( มากกว่า 126 มิลลิกรัม / เดซิลิตร หากตรวจเลือดเเบบอดอาหาร) ในปัจจุบัน โรคเบาหวานนับเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมเพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการเบื้องต้นและเข้ารับการวินิจฉัยเพื่อหา สาเหตุของโรคเบาหวาน และรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
สาเหตุของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน อาจแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ได้ดังต่อไปนี้
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างภูมิขึ้นมาไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่หลักช่วยกระตุ้นให้เซลล์นำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดเข้าไปใช้เผาผลาญให้เป็นพลังงาน ดังนั้นเมื่อมีอินซูลินไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในที่สุด
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีสาเหตุมาจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งคือภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เเม้จะมีฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอในร่างกาย เเต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เผาผลาญได้อย่างเหมาะสม จนนำไปสู่การเกิดเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอชพีแอล (Human Placental Lactogen หรือ HPL) จากรก ที่จะหลั่งเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ ออกฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินขึ้น ส่งผลให้คุณเเม่บางรายมีระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมักจะพบเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นี้มักเป็นเพียงชั่วคราว ส่วนมากเเล้วมักจะหายได้เองหลังคลอด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน เช่น พันธุกรรม ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ผู้หญิงเป็นโรคกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) มีภาวะความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงอายุที่มากขึ้นก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะระบบเผาผลาญของร่างกายอาจทำงานลดลง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้จัดการกับน้ำตาลได้ไม่ดีเช่นเดิม
อาการของโรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวาน เป็นอาการที่เกิดจากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งในช่วงเเรกหากยังมีระดับน้ำตาลไม่สูงมากนัก ก็อาจไม่มีอาการเเสดงใด ๆ ทั้งนี้หากปล่อยล่วงเลยจนมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้ดังนี้
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เนื่องจากตามปกติเเล้วน้ำตาลในเลือดนั้นเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เเต่หากเมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงระดับหนึ่งเเล้ว ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลมาเปลี่ยนใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีเเรง และเหนื่อยง่ายระหว่างวัน
- กระหายน้ำมากและปัสสาวะบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รวมถึงอาจต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึกหลังจากที่หลับไปเเล้ว อีกทั้งการปัสสาวะบ่อย นับเป็นการสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย จึงส่งผลให้รู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น เพื่อให้ดื่มน้ำทดเเทนส่วนที่เสียไป
- ผิวและริมฝีปากแห้ง เกิดจากร่างกายขาดน้ำ เซลล์ผิวหนังเเละริมฝปากจึงขาดความชุ่มชื้น ทำให้ผิวแห้ง ริมฝีปากแห้งและมีอาการคันระคายเคืองผิวได้ง่าย
- ปลายมือและเท้าชา หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เส้นประสาทตามส่วนต่าง ๆ เช่น มือ แขน ขา ท้าถูกทำลาย ที่ทำให้เกิดอาการชาหรือเสียวซ่าได้
- ตาพร่ามัว อาจเกิดจากเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เส้นเลือดที่บริเวณจอประสาทตาถูกทำลาย ทำให้มีอาการตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่โรคต้อหิน ต้อกระจก และอาจรุนเเรงถึงกับทำให้ตาบอดได้
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากเมื่อระดับน้ำตาลในร่างกายสูงมากถึงระดับหนึ่ง ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อ เผื่อมาใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อเเละไขมันลดลง จึงเป็นผลให้น้ำหนักลดลงอย่างกะทันหันได้
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน
วิธีการดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเมื่อเป็นโรคเบาหวาน อาจทำได้เบื้องต้นดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อาทิเช่น ผักคะน้า แตงกวา กะหล่ำดอก มะเขือเทศ พริกหยวก ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ปลาแซลมอน ปลาทู อกไก่ น้ำมันมะกอก นมไขมันต่ำ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีน้ำตาลเเละไขมันไม่สูงนัก ส่งผลให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ดีขึ้น และนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง/น้ำตาล เเละไขมันฃ เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ขนมหวาน อาหารแปรรูป ข้าวขาว มันฝรั่ง รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเป็นการออกกำลังกายที่ความเหนือยระดับปานกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ วิ่งบนลู่วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้ขยับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ อาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินทำให้ร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ปัญหาสุขภาพ หรือโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด ปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ โรคหัวใจ อาจขอคำปรึกษาคุณหมอถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด
- เลิกสูบบุหรี่
บุหรี่มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น อีกทั้งบุหรี่ยังอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็งปอด มะเร็งโพรงจมูก และโรคถุงลมโป่งพอง
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทำให้ทราบถึงความสามารถในการควบคุมโรคเบาหวานของตน ซึ่งสามารถใช้ประเมินประสิทธิภาพของยาและแผนการรักษาโดยรวมว่าเหมาะสม หรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ดีหรือไม่ เพียงใด ซึ่งทำให้สามารถปรับการรักาาได้เหมาะสมกับตัวบุคคลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังควรเข้ารับการตรวจสุขภาพต่าง ๆ ตามที่คุณหมอเเนะนำ ได้เเก่ การตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี การตรวจสุขภาพเท้า การตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะโปรตีนอัลบูมินรั่ว ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวานลงไต
[embed-health-tool-bmi]