โรคเบาหวาน มักเกิดจากฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่หลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การกินอาหารที่เหมาะสม สามารถช่วยควบคุมโรคได้ อาหารคนเป็นเบาหวาน ควรมีสารอาหารที่ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
อาหารคนเป็นเบาหวาน มีอะไรบ้าง
ผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งเบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถรับประทานอาหารได้ปกติ แต่ควรเน้นรับประทานอาหารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนี้
- ผัก โดยเฉพาะผักใบเขียว
ผู้ป่วยเบาหวานควรเน้นรับประทานผักใบเขียว เช่น ผักโขม กะหล่ำปลี ผักคะน้า บล็อกโคลี เพราะผักใบเขียวเป็นแหล่งของแมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินเอ และแคลเซียม ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องจำกัดปริมาณในการรับประทานผักบางชนิด โดยเฉพาะพืชหัว เช่น แครอท มันเทศ เผือก ฟักทอง เนื่องจากมีแป้งมาก อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- โยเกิร์ต
โยเกิร์ตมีโพรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมและระบบย่อยอาหาร อาจช่วยลดการอักเสบและลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน รวมถึงเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้
ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ควินัว ขนมปังโฮลเกรน ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ เพราะมีไฟเบอร์สูง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี
- ผลไม้รสเปรี้ยว
ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เกรปฟรุต สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี แบล็กเบอร์รี ราสป์เบอร์รี อุดมด้วยวิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม แมงกานีส ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- ปลาที่มีไขมันดี
สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ระบุว่า อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fatty acid) และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fat) อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ ซึ่งกรดไขมันดังกล่าวพบได้ในปลาบางชนิด เช่น ปลาทู ปลาซาร์ดีน แซลมอน ปลาเฮอร์ริ่ง
อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรบริโภคอย่างจำกัด
ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องจำกัดปริมาณในการบริโภคอาหารดังต่อไปนี้ เพราะอาจส่งผลต่อการควบคุมโรคเบาหวานได้
- อาหารประเภททอด และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง รวมถึงอาหารแปรรูป
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ น้ำหวาน
- อาหารที่มีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ระบุว่า โดยปกติ ร่างกายควรได้รับโซเดียมเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หากเกินกว่านั้นอาจทำให้เกิดการคั่งของเกลือในร่างกาย ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานเพศชาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน และเพศหญิงไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน
[embed-health-tool-bmi]