backup og meta

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลข้างเคียง ที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลข้างเคียง ที่ควรรู้

    ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้มีอาการไอ เจ็บคอ ไข้สูง ปวดหัว และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ การฉีดวัคซีนจึงอาจมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็อาจมี ผลข้างเคียง ต่อร่างกาย เช่น ปวด บวม แดง คลื่นไส้ มีไข้ จึงควรศึกษาแนวทางการดูแลตัวเองเพื่อลดผลข้างเคียง และป้องกันอาการแพ้อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีประโยชน์อย่างไร

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) มีประโยชน์ในการช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน ทำให้มีอาการไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลียมาก หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และหลังจากการรักษายังอาจมีอาการอ่อนเพลียที่คงอยู่เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ได้อีกด้วย

    ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงอาจมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

    ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำมาจากเชื้อที่ตายแล้ว มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากไม่สามารถแพร่เชื้อเพื่อก่อให้เกิดโรคได้อีก จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยผู้ที่งควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

    • เด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี
    • ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันตัวเองและทารกในครรภ์
    • ผู้ที่สุขภาพร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย
    • ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย เช่น ทำงานในโรงพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วย
    • ผู้ที่อาศัยร่วมกับบุคคลที่มีแนวโน้มติดเชื้อรุนแรงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง โรคลูปัส หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

    อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อบุคคลบางกลุ่ม จึงอาจต้องปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนี้

    • เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากยังเด็กเกินไปที่จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
    • ผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
    • ผู้ที่มีอาการแพ้ไข่หรือส่วนผสมบางชนิดในวัคซีนไข้หวัดใหญ่
    • ผู้ที่เป็นโรคปลอกหุ้มเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบอย่างเฉียบพลัน (Guillain-Barré Syndrome หรือ GBS) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
    • ผู้ที่กำลังมีอาการเจ็บป่วยอย่างหนัก ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีน

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลข้างเคียง

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงและสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน ดังนี้

    • วัคซีนชนิดฉีดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการเจ็บปวด ผิวแดง บวม ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ เหนื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ วิงเวียนศีรษะ หมดสติ
    • วัคซีนชนิดยาพ่นจมูกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ อาเจียน หายใจมีเสียงหวีด

    นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

    • หายใจลำบาก เสียงแหบ หรือหายใจไม่ออก
    • บวมรอบดวงตาหรือริมฝีปาก
    • ลมพิษ
    • ผิวซีด หรือผิวแดง
    • อ่อนแรง อ่อนล้า และอ่อนเพลีย
    • หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ

    อาการแพ้เหล่านี้อาจพบได้ยากและมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง แต่หากพบว่าอาการรุนแรงขึ้นควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

    วิธีบรรเทาอาการจากผลข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    วิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการผลข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจมีดังนี้

    • ควรนั่งหรือนอนราบอย่างน้อย 15 นาทีหลังฉีดยา เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม
    • ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับความปลอดภัยในการกินยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวด ไข้ หรืออักเสบจากผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
    • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ หรือแผ่นประคบร้อนบริเวณที่ฉีดยา เพื่อบรรเทาอาการปวด
    • ลดการขยับหรือป้องกันการกระทบเทือนบริเวณที่ฉีดยา เพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดและการอักเสบของรอยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา