backup og meta

อาการ Hyperglycemia สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    อาการ Hyperglycemia สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

    อาการ Hyperglycemia คือ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น อาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย รู้สึกหิวหรืออยากอาหารผิดปกติ รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรง ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โรคไต ภาวะเบาหวานขึ้นตา แผลที่เท้าจากเบาหวาน จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพและรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

    สาเหตุของ อาการ Hyperglycemia

    สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้

    • รับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมหวาน ของทอด อาหารแปรรูป เพราะอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหากรับประทานอาหารดังกล่าวมากเกินไปจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ขาดการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน รวมทั้งกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ความผิดปกติของตับอ่อน เนื่องจากเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลาย ไม่ว่าจะเกิดภูมิต้านทานของร่างกายเอง หรือจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ อุบัติเหตุ การผ่าตัดตับอ่อน จะส่งผลให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ภาวะดื้ออินซูลิน คือ ภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ตามปกติ จึงทำให้แม้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา
  • นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Hyperglycemia เช่น อาการป่วยรุนแรง การติดเชื้อ รวมถึงภาวะความเครียดและกดดันสูง เพราะความเครียด ไม่ว่าจะทั้งทางด้านร่างกายหรือทางจิตใจ จะเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดที่ออกฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาขับปัสสาวะ ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน

    อาการ Hyperglycemia มีอะไรบ้าง

    อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้

    อาการทั่วไป

  • ปวดศีรษะหรือมึนศีรษะ 
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย
  • มองเห็นภาพไม่ชัดหรือตาพร่ามัว
  • น้ำหนักลดลงกะทันหัน
  • รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรง
  • ไม่มีสมาธิ
  • อาการรุนแรง

    อาจเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมาก ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง ดังนี้

    • ปวดท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน
    • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้หมัก
    • ผิวแห้ง ปากแห้ง เนื่องจากขาดน้ำ
    • หายใจหอบ เร็ว
    • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
    • นอนหลับมากขึ้น ซึม 
    • แขนขาอ่อนแรงผิดปกติ หรือบางรายอาจมีแขนขากระตุกหรือขยับแบบควบคุมไม่ได้ 

    เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่อาจเข้าข่ายภาวะ Hyperglycemia ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่อันตราย เช่น ไตวาย เบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจและหลอดเลือด แผลเบาหวานเรื้อรัง รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินเฉียบพลัน ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoscidosis) และภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemic Hyperosmolar Syndrome: HHS) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

    การรักษาอาการ Hyperglycemia

    การรักษาอาการ Hyperglycemia มีดังนี้

    การรักษาอาการน้ำตาลในเลือดสูงทั่วไป

    • ปรับพฤติกรรมสุขภาพ โดยคุณหมอและนักโภชนาการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
    • รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างกันไป เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน ยาที่ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกที่ไต ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ
    • ใช้ยาฉีดอินซูลิน มักใช้ในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ด้วยการรับประทานยา และคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งยาฉีดอินซูลินจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เสมือนกับอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนของร่างกาย ยาฉีดอินซูลินมีหลายชนิด อาจแบ่งตามการออกฤทธิ์ได้คร่าว ๆ ได้แก่ อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว และอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน

    การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงระดับรุนแรง

    • ให้น้ำเกลือ เพื่อช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไป เนื่องจากเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายอาจขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย อีกทั้งการให้น้ำเกลือยังช่วยเจือจางน้ำตาลในเลือดให้เข้มข้นน้อยลงด้วย
    • การให้สารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte replacement) อิเล็กโทรไลต์ คือ เกลือแร่ที่อยู่ในกระแสเลือดมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้เป็นปกติ โดยเฉพาะหัวใจและกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีภาวะ Hyperglycemia รุนแรง อาจส่งผลให้ระดับอิเล็กโทรไลต์หลายชนิดในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป คุณหมอจึงจำเป็นต้องให้สารละลายอิเล็กโทรไลต์ทางหลอดเลือดดำ เพื่อรีบรักษาให้ระดับอิเล็กโทรไลต์กลับสู่สมดุล
    • การให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำ หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากหรือมีภาวะฉุกเฉิน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง คุณหมอจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อรีบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 

    วิธีป้องกันอาการ Hyperglycemia

    วิธีป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ผักคะน้า แตงกวา ผักโขม กะหล่ำปลี ผักบุ้ง กะเพรา มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ปลาแซลมอน ปลาทู อะโวคาโด อัลมอนด์ ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ดี แป้งและน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป ขนมหวาน ของทอด รวมถึงเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้แปรรูป น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ โซจู เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
    • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและทำให้ร่างกายรักษาสมดุลต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม 
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ทำให้ร่างกายจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
    • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ ดูหนัง นอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกาย เพราะความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
    • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองและจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่า 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจหมายความว่ามี อาการ Hyperglycemia ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษา นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีร่วมด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา