backup og meta

LADA หรือเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง สาเหตุ อาการ การรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    LADA หรือเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง สาเหตุ อาการ การรักษา

    LADA (Latent Autoimmune Diabetes in Adults) คือโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่เซลล์ในตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายอย่างช้า ๆ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วย LADA จะค่อย ๆ แย่ลงจนถึงขั้นที่เซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายจนหมด และผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินทดแทนเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

    คำจำกัดความ

    LADA คืออะไร

    LADA หรือ เบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง คือโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง มีสาเหตุคล้ายกับเบาหวานชนิดที่ 1 คือ เบต้าเซลล์ (β-Cell) ของตับอ่อน ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายจากภูมิซึ่งสร้างจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง จนทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน เเต่มักพบในวัยผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่สาเหตุเกิดจากภูมิในร่างกายไปทำลายตับอ่อนเช่นกัน เเต่มักเเสดงอาหารตั้งเเต่ในช่วยเด็กเเละวัยรุ่น ดังนั้นบางครั้งจึงอาจเรียก LADAว่า เบาหวานชนิดที่ 1.5

    การที่ LADA มักพบในวัยผู้ใหญ่นั้นอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติทีละน้อย แล้วค่อย ๆ ทำลายเบตาเซลล์ในตับอ่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่องอย่างช้า ๆ จนกระทั่งน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เเละนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด

    อาการ

    อาการของ LADA

    เมื่อเป็นเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง จะมีอาการเช่นเดียวกับเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนี้

    • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
    • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน
    • หิวบ่อย อยากอาหารเป็นพิเศษ
    • น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
    • อ่อนเพลีย
    • ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
    • สายตาพร่ามัว
    • ติดเชื้อง่าย
    • ผิวแห้ง คัน
    • มือเท้าชา

    สาเหตุ

    สาเหตุของ LADA

    เบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากการที่แอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิต้านทานซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผลิตขึ้นมานั้นทำหน้าที่ผิดปกติ โดยตรวจจับเบตา เซลล์ว่าเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายทำให้ร่างกายต้องกำจัด ซึ่งความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพันธุกรรม โดยผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง

    นอกจากนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติ ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่องเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ง่ายกว่าปกติ

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง

    คุณหมอจะตรวจและวินิจฉัยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากตัวอย่างเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน
    • ตรวจหาแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานที่ผลิตจากระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ผิดปกติจนทำลายเบตา เซลล์ โดยสามารถตรวจได้ด้วยการเจาะเลือด

    การรักษา LADA

    สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน LADA ระยะแรก ซึ่งเบตาเซลล์ยังถูกทำลายไม่มากนัก ทำให้ในร่างกายยังมีฮอร์โมนอินซูลินอยู่ในระดับหนึ่ง ในช่วงนี้คุณหมอจะจ่ายยาลดระดับน้ำตาลในเลือดเเบบรับประทาน

    อย่างไรก็ตาม หากอาการของเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองแย่ลง หรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้แล้ว คุณหมอจะรักษาด้วยการให้ฉีดอินซูลินสังเคราะห์ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ

    ทั้งนี้ อินซูลินมีหลายประเภทซึ่งจำแนกตามความเร็วในการออกฤทธิ์ อย่างอินซูลินออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) จะออกฤทธิ์ภายใน15 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย ส่วนอินซูลินออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-acting Insulin) จะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย โดยคุณหมอจะพิจารณาประเภทของอินซูลินตามประวัติสุขภาพ เพศ วัย น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งแตกต่างกันไป

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเมื่อเป็น LADA

    ผู้ป่วยเบาหวาน LADA ควรดูแลตนเองให้ดีเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีคำเเนะนำเบื้องต้นดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน เช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังทำให้สุขภาพร่างกายโดยเเข็งเเรง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    • งดสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    • หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อให้เเน่ใจว่าระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เเละหากมีค่าระดับน้ำตาลสูง หรือต่ำเกินไปบ่อยครั้ง ควรไปพบคุณหมอก่อนนัด เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม

    นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Diabetes Reviews ปี พ.ศ. 2562 พบว่า ภาวะน้ำหนักเกิน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการบริโภคของหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เบาหวาน LADA ดังนั้น การดูแลตัวเองด้วยการควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน LADA ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา