backup og meta

สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร

อาการคนท้อง เช่น อาเจียน กรดไหลย้อน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เหงือกและฟัน หรือ สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ อ่อนแอลงได้ ในช่วงนี้ คุณแม่จึงต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีเป็นพิเศษ ด้วยการเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล แปรงฟันหลังอาเจียน เป็นต้น เพื่อให้ช่องปากแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่หากเป็นแล้วไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด

[embed-health-tool-due-date]

วิธีดูแล สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพช่องปากของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้ช่องปากแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้

เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด และความวิตกกังวล อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอยากกินของหวานมากขึ้น แต่ทางที่ดี คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดหรือลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูงจะเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ น้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มยังอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดฟันผุได้ด้วย

เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล ขนมปัง เค้ก ลูกอม ผลไม้น้ำตาลสูง เข้าไป แล้วไม่ทำความสะอาดช่องปากให้ดี แบคทีเรียในช่องปากจะย่อยอาหารและน้ำตาล ทำให้เกิดกรด เมื่อกรด แบคทีเรีย เศษอาหาร และน้ำลายรวมตัวกัน จะเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ติดอยู่ตามฟัน กรดในคราบจุลินทรีย์จะทำลายผิวฟันจนเกิดเป็นรู เป็นเหตุให้ฟันผุ

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีฟันผุ ควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เหงือกอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้อโรคจากฟันผุอาจถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย

กินอาหารที่ช่วยให้เหงือกและฟันแข็งแรง

การกินผักผลไม้ไฟเบอร์หรือใยอาหารสูงจะช่วยให้เหงือกและฟันสะอาด กระตุ้นการผลิตน้ำลายที่ช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้น ช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันฟันผุ ทั้งยังอาจช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสซึ่งช่วยฟื้นฟูเคลือบฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ควรขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารบำรุงเหงือกและฟัน รวมถึงปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันจากคุณหมอหรือนักโภชนาการ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพหากรับประทานไม่ถูกวิธี หรือรับประทานมากเกินไป

หลังอาเจียน ควรทำความสะอาดช่องปากให้ดี

การอาเจียน ถือเป็นอาการคนท้องหรืออาการแพ้ท้องที่พบได้ทั่วไป ทุกครั้งที่อาเจียน กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาที่ช่องปาก กัดกร่อนเหงือกและทำลายผิวฟันหรือที่เรียกว่า เคลือบฟัน (enamel) จนทำให้เสียวฟันหรือฟันผุได้

วิธีการทำความสะอาดฟันหลังจากอาเจียน

  • รอประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนจึงค่อยแปรงฟัน เนื่องจากการแปรงฟันทันทีหลังอาเจียนจะทำให้กรดในกระเพาะกระจายไปทั่วช่องปาก สร้างความเสียหายต่อเหงือกและฟันมากกว่าเดิม
  • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ไม่บาดเหงือก และรักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันเป็นประจำ และใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีกรดสูง เช่น น้ำอัดลม อาหารที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ดูแลเหงือกให้ดีขึ้น

ฮอร์โมนเพศหญิงสามารถทำให้ผู้หญิงเกิดโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันได้ เช่น เวลาผู้หญิงเริ่มเป็นสาว ฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้เลือดไหลเวียนในเหงือกมาก จนทำให้เหงือกบวม แดง และบอบบาง ยิ่งเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะยิ่งหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดปัญหาเหงือกและฟันได้ง่ายขึ้นไปอีก คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมักเกิดโรคเหงือกอักเสบเมื่ออายุครรภ์ได้ 2-3 เดือน โรคนี้อาจทำให้เจ็บเหงือก เหงือกบวม และมีเลือดออกตามไรฟัน จนอาจส่งผลให้กินอาหารได้ลำบากและเสี่ยงขาดสารอาหารได้

คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรดูแลเหงือกให้ดี ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาที โดยแปรงอย่างเบามือด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
  • ทำความสะอาดซอกเหงือกและฟันด้วยไหมขัดฟัน
  • หากพบว่าเหงือกผิดปกติ เช่น เป็นหนอง บวม แดง มีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา

เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์นัด ไม่ควรเลื่อนนัดหากไม่จำเป็นจริง ๆ และควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะทันตแพทย์อาจต้องระมัดระวังในการตรวจรักษาบางวิธีการมากขึ้น เช่น การเอกซเรย์ การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dental Care and Pregnancy. https://www.webmd.com/oral-health/dental-care-pregnancy#1.  Accessed on July 10, 2018

Gums and Brushing Technique. https://www.webmd.com/oral-health/guide/gum-problem-basics-sore-swollen-and-bleeding-gums#1.  Accessed on July 10, 2018

Pregnancy and Oral Health. https://www.cdc.gov/oralhealth/publications/features/pregnancy-and-oral-health.html. Accessed February 10, 2022

Oral care in pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6883753/. Accessed February 10, 2022

Pregnancy and teeth. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/pregnancy-and-teeth. Accessed February 10, 2022

Dental care during pregnancy. https://jada.ada.org/article/S0002-8177(18)30640-8/fulltext. Accessed February 10, 2022

How do I make sure I have good dental health during pregnancy?. https://health.mo.gov/living/families/oralhealth/pregnancy.php. Accessed February 10, 2022

The Best and Worst Foods for Your Teeth. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=1&contentid=4062. Accessed February 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/11/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานกับสุขภาพช่องปาก เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ฟัน โครงสร้าง หน้าที่ และการดูแลฟันอย่างถูกวิธี


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย Sopista Kongchon · แก้ไข 08/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา