backup og meta

สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 08/11/2022

    สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร

    อาการคนท้อง เช่น อาเจียน กรดไหลย้อน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เหงือกและฟัน หรือ สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ อ่อนแอลงได้ ในช่วงนี้ คุณแม่จึงต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีเป็นพิเศษ ด้วยการเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล แปรงฟันหลังอาเจียน เป็นต้น เพื่อให้ช่องปากแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่หากเป็นแล้วไม่รักษา อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด

    วิธีดูแล สุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์

    การดูแลสุขภาพช่องปากของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้ช่องปากแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้

    เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล

    การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด และความวิตกกังวล อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกอยากกินของหวานมากขึ้น แต่ทางที่ดี คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดหรือลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูงจะเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ น้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มยังอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก คุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดฟันผุได้ด้วย

    เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาล ขนมปัง เค้ก ลูกอม ผลไม้น้ำตาลสูง เข้าไป แล้วไม่ทำความสะอาดช่องปากให้ดี แบคทีเรียในช่องปากจะย่อยอาหารและน้ำตาล ทำให้เกิดกรด เมื่อกรด แบคทีเรีย เศษอาหาร และน้ำลายรวมตัวกัน จะเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ติดอยู่ตามฟัน กรดในคราบจุลินทรีย์จะทำลายผิวฟันจนเกิดเป็นรู เป็นเหตุให้ฟันผุ

    หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีฟันผุ ควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เหงือกอักเสบ หรือเกิดการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด และเชื้อโรคจากฟันผุอาจถ่ายทอดไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย

    กินอาหารที่ช่วยให้เหงือกและฟันแข็งแรง

    การกินผักผลไม้ไฟเบอร์หรือใยอาหารสูงจะช่วยให้เหงือกและฟันสะอาด กระตุ้นการผลิตน้ำลายที่ช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้น ช่วยในการย่อยอาหาร ป้องกันฟันผุ ทั้งยังอาจช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสซึ่งช่วยฟื้นฟูเคลือบฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ควรขอคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารบำรุงเหงือกและฟัน รวมถึงปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันจากคุณหมอหรือนักโภชนาการ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพหากรับประทานไม่ถูกวิธี หรือรับประทานมากเกินไป

    หลังอาเจียน ควรทำความสะอาดช่องปากให้ดี

    การอาเจียน ถือเป็นอาการคนท้องหรืออาการแพ้ท้องที่พบได้ทั่วไป ทุกครั้งที่อาเจียน กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาที่ช่องปาก กัดกร่อนเหงือกและทำลายผิวฟันหรือที่เรียกว่า เคลือบฟัน (enamel) จนทำให้เสียวฟันหรือฟันผุได้

    วิธีการทำความสะอาดฟันหลังจากอาเจียน

    • รอประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนจึงค่อยแปรงฟัน เนื่องจากการแปรงฟันทันทีหลังอาเจียนจะทำให้กรดในกระเพาะกระจายไปทั่วช่องปาก สร้างความเสียหายต่อเหงือกและฟันมากกว่าเดิม
    • ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม ไม่บาดเหงือก และรักษาความสะอาดในช่องปากด้วยการแปรงฟันเป็นประจำ และใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน
    • หลีกเลี่ยงการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีกรดสูง เช่น น้ำอัดลม อาหารที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

    ดูแลเหงือกให้ดีขึ้น

    ฮอร์โมนเพศหญิงสามารถทำให้ผู้หญิงเกิดโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันได้ เช่น เวลาผู้หญิงเริ่มเป็นสาว ฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้เลือดไหลเวียนในเหงือกมาก จนทำให้เหงือกบวม แดง และบอบบาง ยิ่งเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะยิ่งหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เกิดปัญหาเหงือกและฟันได้ง่ายขึ้นไปอีก คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมักเกิดโรคเหงือกอักเสบเมื่ออายุครรภ์ได้ 2-3 เดือน โรคนี้อาจทำให้เจ็บเหงือก เหงือกบวม และมีเลือดออกตามไรฟัน จนอาจส่งผลให้กินอาหารได้ลำบากและเสี่ยงขาดสารอาหารได้

    คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรดูแลเหงือกให้ดี ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

    • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 2 นาที โดยแปรงอย่างเบามือด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
    • ทำความสะอาดซอกเหงือกและฟันด้วยไหมขัดฟัน
    • หากพบว่าเหงือกผิดปกติ เช่น เป็นหนอง บวม แดง มีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา

    เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ

    คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ อย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หรือตามทันตแพทย์นัด ไม่ควรเลื่อนนัดหากไม่จำเป็นจริง ๆ และควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะทันตแพทย์อาจต้องระมัดระวังในการตรวจรักษาบางวิธีการมากขึ้น เช่น การเอกซเรย์ การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 08/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา