backup og meta

อาการคนท้อง1เดือน เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    อาการคนท้อง1เดือน เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    อาการคนท้อง1เดือน อาจไม่เด่นชัดจนเป็นที่สังเกต เนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ หน้าท้องยังไม่ขยายใหญ่และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยทั่วไป อาการเริ่มต้นที่อาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ ได้แก่ ประจำเดือนไม่มา ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอ หากผลออกมาว่าตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และศึกษาวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

    อาการคนท้อง1เดือน มีลักษณะอย่างไร

    ลักษณะของอาการคนท้อง 1 เดือน หรือช่วง 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

    • ประจำเดือนไม่มา

    โดยปกติแล้ว สัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์จะตรงกับช่วงเวลาที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน ซึ่งเป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวอ่อนมาฝังตัวและเจริญเติบโตหลุดลอกออกจากมดลูกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน เนื่องจากไข่กับอสุจิไม่ได้ผสมกันและไม่มีตัวอ่อน แต่หากประจำเดือนไม่มาในช่วงที่ควรมีประจำเดือน อาจหมายถึงไข่และอสุจิผสมกันอย่างสมบูรณ์และกลายเป็นตัวอ่อนไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก จึงทำให้ไม่มีเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา อาการประจำเดือนไม่มาจึงอาจเป็นสัญญาณแรก ๆ ที่แสดงว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์

    • มีเลือดออกจากช่องคลอด

    คนท้อง 1 เดือนอาจมีเลือดสีชมพูอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลคล้ายประจำเดือนหรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) ไหลออกมาจากช่องคลอด เลือดล้างหน้าเด็กเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับเยื่อบุโพรงมดลูกจนทำให้หลอดเลือดฝอยในมดลูกแตก มักเกิดขึ้นภายใน 10-14 วันหลังเกิดการปฏิสนธิ เลือดล้างหน้าเด็กที่ออกมาอาจมีลักษณะกะปริบกะปรอย เป็นจุดเล็ก ๆ ปริมาณน้อยกว่าประจำเดือนปกติ และมีเลือดออกเพียง 1-2 วัน

    • อาการปวดตามร่างกาย

    การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น มดลูกขยายและบีบรัดตัวเพื่อเตรียมรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มักทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ระยะแรกมีอาการปวดเกร็งท้องน้อย หลังส่วนล่าง และอุ้งเชิงกรานในระดับเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนยังอาจทำให้มีลมจำนวนมากในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ไปจนถึงท้องผูกได้

    • อ่อนเพลีย

    ขณะตั้งครรภ์ร่างกายจำเป็นต้องผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อลำเลียงสารอาหารไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ คุณแม่จึงอาจรู้สึกไม่ค่อยมีพลังงานและอ่อนเพลียได้ง่าย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติด้วย

    ในช่วงตั้งครรภ์ เซลล์รกจะผลิตฮอร์โมนเอชซีจี (Human chorionic gonadotropin hormone หรือ hCG) ที่ช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวกับผนังมดลูกได้อย่างสมบูรณ์ และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องมักเริ่มต้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 เป็นมากในช่วงสัปดาห์ที่ 9 และหายไปในช่วงสัปดาห์ที่ 12-14 ของการตั้งครรภ์

    ลักษณะของทารกอายุครรภ์ 1 เดือน

    ทารกอายุครรภ์ 1 เดือนหรืออยู่ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จะยังอยู่ในระยะตัวอ่อน (Embryonic period) มีขนาดตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือประมาณเมล็ดงาดำ ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่ช่วยป้องกันแรงกระแทกจากภายนอก พร้อมเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อวัยวะหลายส่วน เช่น หัวใจ ท่อประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง ตา หู จมูก จะถูกสร้างขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนในถุงน้ำคร่ำจะเชื่อมติดกับถุงไข่แดงขนาดเล็กที่เป็นแหล่งสารอาหารของทารกในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ก่อนที่รกของทารกจะพัฒนาจนสมบูรณ์และทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและส่งออกซิเจนให้กับทารกได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์

    การทำอัลตราซาวด์ในช่วงนี้อาจจะยังไม่เห็นตัวอ่อนที่ปกติในโพรงมดลูกได้ หากไม่มีอาการผิดปกติ คุณหมอจะมีการพิจารณานัดมาทำอัลตร้าซาวน์ซ้ำอีกครั้ง

    วิธีดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสม

    การดูแลตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ สามารถทำได้ดังนี้

    หากทราบว่าตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากกระบวนการฝากครรภ์จะช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนดูแลและตรวจสอบสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ตลอดอายุครรภ์ คุณหมอจะตรวจสอบเลือดและปัสสาวะของคุณแม่ ตรวจอุ้งเชิงกราน อัลตราซาวด์ช่องท้อง และทำการทดสอบอื่น ๆ ตามความเหมาะสม และหากพบความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น คุณหมอจะได้รักษาหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องโภชนาการ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและทารกในครรภ์ เช่น ผักและผลไม้อย่างผักใบเขียว มะเขือเทศ แครอท มันเทศ อะโวคาโด อาหารที่มีโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่ว เต้าหู้ อาหารที่มีแคลเซียมอย่างนม ปลาตัวเล็กตัวน้อย โยเกิร์ต อาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างอาหารทะเล ซีเรียล ขนมปัง ผักใบเขียว โดยควรล้างวัตถุดิบต่าง ๆ ให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น และควรรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ทำครัว เช่น มีด เขียง รวมถึงภาชนะใส่อาหารอยู่เสมอด้วย

    • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบหรืออาหารดิบ เช่น ลาบเลือด ก้อย ปลาร้า ปลาแซลมอนดอง เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคปนเปื้อนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาที่อาจมีสารปรอทปนเปื้อน เช่น ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาโอ ปลาอินทรี เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการแท้งและภาวะทารกพิการแต่กำเนิด

    • เสริมวิตามินบำรุงครรภ์

    คุณแม่ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณ 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 กรัมตั้งแต่ช่วงวางแผนมีบุตรหรืออย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และรับประทานต่อเนื่องไปจนถึงช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก กรดโฟลิกจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างและแบ่งเซลล์ตัวอ่อน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพของทารก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสมองและกระดูกสันหลังของทารก โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์อื่น ๆ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา