อาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก มักเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และมักจะเป็นมากในช่วงอายุครรภ์ 9-14 สัปดาห์สาเหตุของการเกิดอาการนี้ยังไม่แน่ชัด แต่อาจมาจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์อย่างฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) และฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น หรือระดับน้ำตาลในเลือดลดลง อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลาของวัน และอาจแย่ลงได้หากได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น การได้กลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิด ความเครียด การพักผ่อนน้อย
คนท้องบางคนอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) คือ อาเจียนมากกว่า 3 ครั้ง/วัน มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ถ่ายปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเข้ม วิงเวียนศีรษะขณะยืน น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลียมาก ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำหรือให้ยาเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อทั้งคนท้องและเด็กในท้อง
หน้าอกของคนท้องจะขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการให้นมลูกหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้คนท้องรู้สึกเจ็บหน้าอกและคัดตึงเต้านมคล้ายกับช่วงที่เป็นประจำเดือน โดยเฉพาะในช่วงท้องระยะแรกที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว อาการเจ็บและคัดตึงบริเวณเต้านมจะทุเลาและมักหายไปในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์
ร่างกายของคนท้องจะผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีเลือดเพียงพอในการหล่อเลี้ยงมดลูกและลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเด็กในท้อง เมื่อร่างกายมีเลือดมากขึ้น ไตก็ต้องกรองเลือดและกำจัดของเหลวส่วนเกินออกไปในรูปแบบปัสสาวะปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย จึงส่งผลให้คนท้องถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ทั้งนี้ คนท้องควรเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ เนื่องจากการกลั้นปัสสาวะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนท้อง
อาการอ่อนเพลียเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก เนื่องจากเมื่อท้อง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเพศที่ชื่อว่าโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อช่วยให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปตามปกติ และช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง จึงส่งผลให้อ่อนเพลียง่าย ง่วงนอนบ่อย เหนื่อยได้ง่าย หรืออาจนอนหลับไม่เต็มอิ่ม
ร่างกายคนท้องมักต้องการอาหารมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองและเด็กในท้องมีพลังงานเพียงพอ จึงเป็นเรื่องปกติที่คนท้องส่วนใหญ่จะอยากรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและแคลเซียมสูง เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ของหวาน ช็อกโกแลต ไอศกรีม และอาจไม่ชอบอาหารที่เคยชอบรับประทานก่อนท้อง หรืออาจมีภาวะเกลียดอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างรุนแรง (Food aversion) เนื่องจากประสาทรับกลิ่นและรสชาติของคนท้องมักไวขึ้นหรือแปลกไปจากเดิม
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย