การผ่าคลอด คือช่วงเวลาหลังการคลอดบุตรโดยวิธีการผ่าตัด ซึ่งการคลอดบุตรด้วยวิธีนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากมีบาดแผลหน้าท้องที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมากในช่วงแรกเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย และต้องใช้เวลาในการพักฟื้นมากกว่า แต่ทั้งนี้ มีเคล็ดลับที่อาจช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สามารถดูแลลูกน้อยได้โดยไม่เจ็บแผลผ่าตัดมากนัก
[embed-health-tool-due-date]
อาการของร่างกายหลัง การผ่าคลอด
โดยส่วนใหญ่แล้ว หลังผ่าคลอด คุณแม่อาจต้องนอนอยู่โรงพยาบาลประมาณสามถึงสี่วัน และเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ยังจำเป็นต้องระมัดระวังตัวเองในการดูแลแผลรวมทั้งการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อหยิบจับสิ่งต่าง ๆ หรืออุ้มลูกน้อย โดยปกติ ต้องใช้เวลาประมาณหกสัปดาห์เต็มในการฟื้นตัวเองอย่างเต็มที่
- 1 วันผ่านไป: มักได้รับคำแนะนำให้ค่อย ๆ ลุกเดินไปเดินมาในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยระบายแก๊สในช่องท้อง และควรกินอาหารอ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้หนักท้องมากนัก
- 2 วันผ่านไป: สามารถอาบน้ำได้ตามปกติแล้ว แต่การขับถ่ายอาจจะยังไม่เป็นปกตินัก คุณหมออาจแนะนำให้กินยาที่ช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม นอกจากนั้นแล้ว ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก
- 3 วันผ่านไป: การผ่าคลอดอาจทำให้น้ำนมมาช้ากว่าการคลอดเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้ น้ำนมอาจเริ่มไหลในช่วยประมาณวันที่สามหรือวันที่สี่
- 1 สัปดาห์ผ่านไป: อาจเริ่มรู้สึกดีขึ้นแล้ว เจ็บแผลน้อยลงแต่ยังไม่สามารถยกสิ่งของหนัก ๆ ได้ แต่สามารถอุ้มลูกน้อยได้แล้ว
- 4 ถึง 6 สัปดาห์ผ่านไป: ความเจ็บปวดจะลดลง และมีแนวโน้มที่จะหยิบยกหรือเคลื่อนไหวได้สะดวกสบายขึ้น อย่างเช่น การขับรถ การออกกำลังกายเบา ๆ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกาย แผลผ่าตัด และรับคำแนะนำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
เคล็ดลับดูแลตัวเองหลัง การผ่าคลอด
หลังผ่าคลอด คุณแม่ควรดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงอย่างเต็มที่ก่อนที่จะเริ่มกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งการดูแลลูกน้อยโดยเฉพาะการอุ้มลูก ในช่วงสัปดาห์แรกอาจให้คุณพ่อหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวช่วยอุ้มลูกน้อย เพื่อให้แผลผ่าตัดผสานกันได้เร็วขึ้น และไม่ควรทำอะไรหักโหม นอกจากนั้น ยังมีเคล็ดลับในการดูแลตัวเอง ดังนี้
พักผ่อนให้มาก ๆ
การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน หลังผ่าคลอด มักนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณสามถึงสี่วัน หรืออาจจะนานกว่านั้นหากแผลผ่าตัดยังไม่ดีขึ้น และให้เวลาร่างกายฟื้นตัวเองอีกอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ในช่วงเวลาที่ลูกน้อยนอนหลับ ควรหาเวลางีบหลับไปพร้อม ๆ กัน หรือหากเป็นไปได้ในช่วงแรก อาจให้ญาติพี่น้องช่วยทำหน้าที่เปลี่ยนผ้าอ้อมหรือทำงานบ้านแทน เพื่อที่จะได้มีเวลานอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่
โภชนาการที่ดี
การมีโภชนาการที่ดีในช่วงหลังคลอดนับเป็นเรื่องสำคัญมากพอ ๆ กับช่วงก่อนคลอด โดยเฉพาะหากลูกกินนมแม่ การรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานผักในขณะให้นมบุตรนั้น จะช่วยให้ลูกน้อยติดใจในรสชาติของน้ำนม และอาจช่วยให้ลูกน้อยชอบกินผักเมื่อโตขึ้นได้ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม และป้องกันอาการท้องผูก
ทะนุถนอมตัวเอง
ในขณะที่ร่างกายกำลังฟื้นตัวเองควรระมัดระวังการเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็น พยายามหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบนได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ควรเตรียมสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงดูลูกน้อย อย่างเช่น อุปกรณ์ในการเปลี่ยนผ้าอ้อมและการป้อนนมไว้ใกล้ ๆ ตัว ที่สำคัญ ห้ามยกสิ่งของที่หนักเกินกว่าน้ำหนักตัวของลูกน้อย หากจำเป็น ควรขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้น ต้องพยายามไอและจามให้เบาที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกระเทือนแผลผ่าตัด
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ
หลังผ่าคลอด ยังไม่ควรออกกำลังกาย แต่อาจเดินให้บ่อยขึ้น แต่ควรเดินอย่างช้า ๆ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยป้องกันอาการท้องผูกและลิ่มเลือด แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าเดินเร็วหรือเปลี่ยนอิริยาบถอย่างเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้เจ็บแผลผ่าตัดได้
ดูแลและสังเกตสภาพจิตใจ
เมื่อคลอดบุตรแล้ว คุณแม่หลายคนมีอาการซึมเศร้า เพราะต้องปรับตัวกับหลาย ๆ เรื่อง ยิ่งผ่าคลอดมักทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างที่ต้องการ อาจรู้สึกเบื่อ เครียด วิตกกังวล รวมทั้งรู้สึกเหนื่อย เศร้า หรือผิดหวังโดยไม่มีสาเหตุ อย่าเพิกเฉยกับความรู้สึกต่าง ๆ ควรพูดคุยกับเพื่อน คนรัก หรือแม้กระทั่งจิตแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการซึมเศร้าหลังคลอด
เยียวยาความเจ็บปวด
หากปวดแผล ควรปรึกษาคุณหมอถึงชนิดของยาแก้ปวดที่สามารถกินได้ โดยเฉพาะแม่ที่ต้องให้นมลูก โดยส่วนใหญ่ แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวด หรือแนะนำให้ซื้อยาแก้ปวดตามร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความเจ็บปวดของแผลผ่าตัด