ตรวจครรภ์ สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยใช้ชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งชุดตรวจครรภ์จะตรวจหาฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่ผลิตจากเซลล์ของรกหากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น โดยส่วนใหญ่ชุดตรวจครรภ์มักอ้างว่าให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและน่าพอใจ แต่ทั้งนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ ดังนั้น หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้องจะช่วยทำให้การตรวจครรภ์โดยใช้ชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองอ่านผลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ความผิดพลาดที่อาจเกิดได้จากการ ตรวจครรภ์ ด้วยตัวเอง
ผลที่ได้จากชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์อาจแสดงผลผิดพลาดใน 2 กรณี คือ ผลบวกเท็จ และผลลบเท็จ
ผลตรวจครรภ์ เป็นบวกเท็จ
ผลตรวจครรภ์เป็นบวกเท็จ หมายถึง เครื่องมือแสดงผลว่าตั้งครรภ์ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ได้ตั้งครรภ์ สาเหตุของการแสดงผลที่ผิดพลาดอาจเกิดจาก การถึงวัยหมดประจำเดือน การท้องนอกมดลูก หรือปัญหาเกี่ยวกับรังไข่ นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลมาจากการแท้งบุตรหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกแล้วได้เช่นกัน
ผลตรวจครรภ์ เป็นลบเท็จ
ผลตรวจครรภ์เป็นลบเท็จ หมายถึง การที่อ่านว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่แท้จริงแล้วกำลังตั้งครรภ์ สาเหตุของผลเป็นลบเท็จ ได้แก่
- การตรวจสอบการตั้งครรภ์เร็วเกินไป การตรวจครรภ์ทันทีหลังจากประจำเดือนไม่มานั้น เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากชุดตรวจไม่สามารถตรวจหาฮอร์โมนตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin-HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ของรก และเป็นตัวบ่งชี้การตั้งครรภ์ โดยปกติแล้ว ควรใช้ชุดตรวจครรภ์ 1 สัปดาห์หลังจากที่ประจำเดือนไม่มา อุปกรณ์จึงจะสามารถตรวจจับระดับฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะได้
- อ่านผลการตรวจทันทีโดยไม่รอเวลาที่เหมาะสม การตรวจเพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำต้องใช้เวลา ดังนั้น ไม่ควรอ่านผลทันที ควรอ่านผลตามเวลาที่คำแนะนำการใช้ของชุดตรวจระบุไว้
- ตรวจโดยใช้ปัสสาวะที่เจือจางเกินไป ช่วงเวลาเช้าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับผลที่แน่นอน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะเข้มข้นที่สุด หากตรวจช่วงเวลาอื่น อาจให้ผลตรวจที่เป็นเท็จได้
ควรทำอย่างไรเมื่อผลการตรวจผิดพลาด
หากได้ผลตรวจครรภ์เป็นบวกเท็จ หรือหากตรวจหลายครั้ง แต่ประจำเดือนยังไม่มา ควรนัดหมายคุณหมอเพื่อเข้ารับการเจาะเลือดหรืออัลตราซาวด์ เพื่อตรวจภาวะการตั้งครรภ์ และรับคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์อย่างละเอียด
แต่หากเป็นผลลบเท็จ แต่รู้สึกไม่แน่ใจ ควรตรวจใหม่หลังจากการตรวจครั้งแรกผ่านไปประมาณ 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ยังคงได้ผลเป็นลบ และประจำเดือนยังไม่มา ควรนัดหมายคุณหมอโดยทันที เนื่องจากภาวะนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ น้ำหนักน้อยเกินไป ปัญหารังไข่ ความเครียด หากไม่ได้ตั้งครรภ์ คุณหมอจะหาสาเหตุและวิธีการรักษาเกี่ยวกับภาวะประจำเดือนขาดต่อไป