การที่ฟันดันเหงือกขึ้นมาจะทำให้เด็กรู้สึกคันฟัน หมั่นเขี้ยว รำคาญ และเกิดความต้องการที่จะกัดของต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม เตียง ขวดนม มือ เท้า หรือแม้แต่หัวนมของแม่ขณะดื่มนม
คุณอาจสังเกตเห็นอาการผื่นเกิดขึ้น ที่บริเวณในหน้าและลำคอของเด็ก ผื่นเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของน้ำลายภายในปากทารก และน้ำลายเหล่านั้นไหลย้อยออกจากปาก มาเปรอะเปื้อนใบหน้า ทำให้เกิดเป็นอาการผื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรคอยเช็ดน้ำลายให้ลูกเป็นประจำ
เมื่อฟันของทารกค่อยๆ ดันเหงือกขึ้นมา ในบางครั้งก็อาจจะทำให้เหงือกเกิดอาการอักเสบ บวมแดง และมีอาการปวดได้ เด็กทารกจึงมักจะมีอาการงอแงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอาการปวดเหงือกเหล่านี้
หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเอามือจับแก้มอยู่บ่อยๆ อาจเกิดจากการที่เขารู้สึกรำคาญ และปวดจากอาการเจ็บเหงือกเนื่องจากฟันเพิ่งงอก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดบริเวณหูและกราม เนื่องจากการที่ฟันงอกขึ้นในช่วงบริเวณขากรรไกรอีกด้วย
อาการอักเสบของเหงือก และอาการปวดเหงือกเนื่องจากฟันขึ้น อาจทำให้เด็กมีอาการไข้ขึ้น ปวดหัว และตัวร้อนได้
พ่อกับแม่จะดูแลลูกที่เริ่มมีฟันขึ้นได้อย่างไร
นวดเหงือก เมื่อลูกเริ่มมีฟันขึ้นจนทำให้รู้สึกคันฟัน พ่อแม่สามารถนวดเหงือกให้ลูกเบาๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการคันฟันได้ โดยล้างมือให้สะอาดก่อน หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ ค่อยๆ กดนวดวนเบาๆ ตามบริเวณเหงือกของลูก ควรระมัดระวังอย่าออกแรงมากเกินไป
หาของให้กัด คุณพ่อคุณแม่ควรหาของให้ลูกขบเคี้ยวเล่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันฟันและคันเหงือก โดยควรเลือกเป็นของเล่นที่อ่อนนุ่ม และปลอดภัย ไร้สาร BPA นอกจากนี้ ของเคี้ยวเล่นเหล่านี้ ควรมีขนาดใหญ่พอ ที่จะทำให้เด็กไม่สามารถกลืนหรือลงไปติดคอของเด็กได้ เช่น จุกนมหลอก หรือยางกัด
ประคบเย็น ใช้ความเย็นมาประคบเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกของลูก โดยอาจใช้ยางกัด จุกขวดนมแช่เย็น หรือผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น มานวดประคบบริเวณเหงือกของลูก ระวังอย่าให้เย็นจัดจนเกินไป เพราะความเย็นอาจจะกัดปากลูก และทำให้เกิดแผลได้
ใช้ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก หากลูกของคุณมีอาการปวดเหงือกมาก และไม่สามารถบรรเทาอาการได้จากการนวดหรือการประคบเย็น อาจลองใช้ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก เช่น ยาลดไข้ แต่ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
เสริมฟลูออไรด์ เมื่อเด็กเริ่มมีฟันซี่แรกงอกขึ้น พ่อและแม่ควรเริ่มทำการเสริมฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ และช่วยดูแลสุขภาพของฟันให้มีความแข็งแรง โดยการแปรงฟันลูกโดยใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่เสริมฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง
นัดพบทันตแพทย์ เมื่อลูกเริ่มมีฟันขึ้น คุณแม่คุณแม่ควรพาลูกไปหาทันตแพทย์ เพื่อทำการตรวจและดูแลสุขภาพในช่องปากของลูกเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าฟันของลูกจะมีสุขภาพดี และไม่เกิดปัญหาในช่องปากอื่นๆ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย