สอนลูกออมเงิน เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังนิสัยรักการออม เห็นคุณค่าของเงิน และรู้จักใช้เงินอย่างชาญฉลาดให้ลูกตั้งแต่เขายังเด็ก เมื่อโตขึ้น พวกเขาจะได้มีวินัยในการใช้เงิน ไม่มีปัญหาหนี้สิน สามารถรับผิดชอบชีวิตตนเองได้โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
[embed-health-tool-bmi]
สอนลูกออมเงิน ด้วยวิธีไหนเพื่อให้ได้ผล
แบ่งกระปุกออมสินไว้หลาย ๆ ใบ
จุดเริ่มต้นในการสอนลูกออมเงินอย่างง่าย ๆ ได้แก่ การใช้กระปุกออมสิน แต่แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกหยอดเงินใส่กระปุกออมสินเพียงหนึ่งใบเพื่อเอาเงินส่วนนั้นไปเข้าบัญชีธนาคาร ควรเตรียมกระปุกออมสินไว้หลาย ๆ ใบ โดยจะใช้เป็นกระปุกออมสินสำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป หรือจะใช้เป็นกระปุกออมสินชนิดทำเองเพื่อให้ลูกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งกระปุกออมสินก็ได้เช่นกัน เพราะนอกจากลูกจะได้สนุกกับการทำงานฝีมือแล้ว ยังจะกระตุ้นให้ลูกน้อยอยากออมเงินมากขึ้นด้วย
หากยังไม่รู้ว่าจะต้องมีกระปุกออมสินกี่ใบ เอาไว้เก็บเงินในกรณีในบ้าง อาจเริ่มจากกระปุกออมสินเล็ก ๆ 4 ใบ แบ่งเป็น
- กระปุกเงินค่าขนม ไว้สำหรับซื้อของที่ต้องการในแต่ละวัน
- กระปุกเงินออม ไว้สำหรับซื้อของชิ้นใหญ่ที่อยากได้ ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บเงินนาน
- กระปุกเงินลงทุน ไว้สำหรับใช้ในอนาคต
- กระปุกเงินซื้อของขวัญ ไว้สำหรับซื้อของขวัญให้ผู้อื่นในเทศกาลต่าง ๆ หรือไว้บริจาคช่วยเหลือผู้อื่นตามความเหมาะสม
กำหนดยอดเงินออม
เมื่อแบ่งกระปุกออมสินตามเป้าหมายที่ต้องการได้แล้ว กำหนดยอดเงินออมด้วยว่าต้องการยอดเงินในแต่ละกระปุกเดือนละกี่บาท เช่น หากเดือนหน้าลูกต้องการจักรยานคันใหม่ ราคา 3,000 บาท คุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดให้ลูกเก็บเงินหยอดกระปุกให้ได้ 1,000 บาท แล้วจึงช่วยจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ เมื่อได้ยอดเงินเก็บที่ต้องการแล้ว ลูกจะได้รู้ว่าเขาควรจะเก็บเงินให้ได้วันละกี่บาท ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยให้ลูกบรรลุเป้าหมายในการออมเงินได้ง่ายขึ้น ด้วยการเตรียมสมุดสะสมสติกเกอร์ไว้ในลูก เมื่อเขาหยอดเงินในกระปุกในแต่ละวันแล้ว ให้ติดสติกเกอร์ลงไปในสมุด เป็นการช่วยเตือนความจำ ลูกจะได้ไม่ลืมหยอดกระปุก
เปิดบัญชีเงินฝาก
เมื่อลูกหยอดเงินจนเต็มกระปุกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปเปิดบัญชีเงินฝาก โดยต้องเลือกประเภทบัญชีให้เหมาะสมกับจำนวนเงิน เป้าหมาย และระยะเวลาในการฝากเงินด้วย เช่น หากเป็นเงินออมสำหรับซื้อของชิ้นใหญ่ อาจเลือกเปิดเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หากเป็นเงินสำหรับลงทุน หรือเงินเก็บสะสมระยะยาว เพื่อไว้ใช้ตอนโต อาจเลือกเปิดบัญชีเงินฝากประจำ ที่มีให้เลือกทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะหากฝากครบตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ดอกเบี้ยดีกว่าบัญชีออมทรัพย์ แต่ต้องดูเงื่อนไขให้ดีด้วยว่าต้องฝากกี่เดือน เดือนละกี่บาท ในหนึ่งปีขาดฝากได้หรือไม่ จะได้ให้ลูกวางแผนเก็บเงินได้ถูกต้อง
เก็บก่อน ใช้ทีหลัง
เมื่อลูกได้เงินมา ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าขนมรายวัน รายอาทิตย์ เงินปีใหม่ เงินวันเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกแบ่งเงินส่วนหนึ่งหยอดกระปุกออมสินก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปใช้ วิธีนี้จะทำให้ลูกสามารถเก็บเงินได้ตามยอดที่ตั้งไว้ง่ายกว่า และช่วยให้เขาคุ้นเคยกับการเก็บเงินก่อนใช้เงิน หากปล่อยให้ลูกเอาเงินไปใช้แล้ว โดยเฉพาะเงินที่ได้จากเทศกาลพิเศษ ลูกอาจใช้เงินเพลินจนไม่เหลือเก็บ
ออมเงินให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง
เด็ก ๆ เรียนรู้จากการทำตามตัวอย่าง ฉะนั้น หากต้องการสอนลูกออมเงิน ใช้เงินอย่างชาญฉลาด คุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นก่อน เริ่มตั้งแต่การเก็บเงินในกระปุกแต่ละใบ นำเงินไปฝากธนาคาร หรือเพิ่มพูนมูลค่า ไปจนถึงการจับจ่ายใช้สอย เวลาไปซื้อของกับลูก ก็ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่า ก่อนจะซื้อของแต่ละครั้งต้องทำยังไงถึงจะคุ้มค่าที่สุด เช่น ต้องสำรวจราคาหลาย ๆ ร้าน สำรวจความคุ้มค่า ดูส่วนลด ตรวจสอบคุณภาพสินค้า เมื่อลูกมีต้นแบบที่ดีในการออมเงิน ก็จะช่วยกระตุ้นให้เขาเรียนรู้ที่จะออมเงินอย่างถูกวิธี และใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
ให้ลูกเรียนรู้เรื่องเงินผ่านบอร์ดเกม
บอร์ดเกมอย่างเกมเศรษฐี ถือเป็นตัวช่วยการในสอนลูกออมเงิน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงินที่ยอดเยี่ยมที่สุดอย่างหนึ่ง บอร์ดเกมช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีสร้างสมดุลระหว่างเงินฝากและเงินใช้จ่าย ฝึกการคิดคำนวณ และทำความคุ้นเคยกับธนบัตรชนิดต่าง ๆ (แม้จะไม่ใช่ของจริงก็ตาม) เป็นการเล่นเกมที่ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน รวมทั้งสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสอนลูกให้ออมเงินแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักใช้เงินอย่างชาญฉลาดไปพร้อม ๆ กันด้วย หากสอนให้ลูกเก็บเงินเพียงอย่างเดียวอาจเป็นผลเสียได้ เพราะเมื่อลูกโตขึ้นเขาอาจกลายเป็นคนที่ขี้งกจนเห็นแก่ตัว และสร้างความลำบากให้ตัวเองและผู้อื่นได้