แผลในปาก เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อาจเกิดจากการกัดริมฝีปาก การแปรงฟันและเหงือกแรงเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อในปากเสียหาย หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมือเท้าปาก การติดเชื้อราในปาก แผลในปากอาจมีลักษณะเป็นแผลเปื่อย บวมนูนแดง และมีอาการเจ็บ จนอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว เจ็บปวด จนร้องไห้ออกมา หากพบว่าเด็กมีแผลในปาก ควรรีบดูแลรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพร้ายแรง
[embed-health-tool-vaccination-tool]
แผลในปาก คืออะไร
แผลในปาก คือ อาการที่เนื้อเยื่อเสียหายจนมักมีสีผิดปกติ อาจมีลักษณะเป็นแผลเปื่อย บวมนูนแดง มีอาการเจ็บแสบ จนอาจทำให้เด็กมีอาการไม่สบายตัว เจ็บปวด จนร้องไห้ออกมา หรืออาจทำให้กินอาหารลำบาก หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้เด็กกินอาหารได้น้อยลงจนเสี่ยงขาดสารอาหารได้
แผลในปาก เกิดจากอะไร
แผลในปากเด็กอาจมีสาเหตุมาจากการกัดริมฝีปาก หรือการแปรงฟันและเหงือกแรงเกินไป จนทำให้เนื้อเยื่อในปากเสียหาย การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราก็สามารถทำให้เกิดแผลในปากได้ นอกจากนี้ แผลในปากอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเพนิซิลลามิน (Penicillamine) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) รวมถึงเกิดจากการวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือโฟเลต
สำหรับเด็กที่ฟันเพิ่งขึ้น เวลาเด็กดูดนมหรือรับประทานอาหาร อาจทำให้ฟันที่เพิ่งขึ้นใหม่ไปขบกับริมฝีปากจนทำให้มีแผลในปากได้เช่นกัน
อาการของแผลในปากชนิดต่าง ๆ ที่ควรรู้
ปัญหาสุขภาพในเด็กที่อาจทำให้เด็กมีแผลในปาก เช่น
- ภาวะลิ้นลายแผนที่ (Geographic tongue) ภาวะที่ลิ้นอักเสบจนมีลักษณะเป็นฝ้าหรือปื้นขาว ๆ คล้ายแผนที่ ปุ่มลิ้นหรือปุ่มรับรสเล็ก ๆ บนลิ้น (Papillae) หายไป มักส่งผลให้เด็กเจ็บ แสบ ไม่สบายลิ้น โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหารและแปรงฟัน
- โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย ได้แก่ ไวรัสคอกซากีเอ 16 (Coxsackievirus A16) ทำให้เด็กมีไข้ เจ็บคอ มีตุ่มใสหรือแผลในปาก มือ และเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย
- แผลร้อนใน เกิดจากการมีแผลในช่องปาก อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล โดยแผลจะมีลักษณะเป็นจุดวงกลมสีขาวขุ่น แตกต่างกันไปตามขนาดของแผล อาการนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือรำคาญ
- การติดเชื้อราในปาก เกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) ในช่องปาก ซึ่งเป็นเชื้อยีสต์ที่พบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจมีลักษณะเป็นฝ้าขาวข้นที่ลิ้น เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม บางครั้งอาจพบบริเวณต่อมทอนซิล หรือบริเวณเหงือก
- โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสคอกซากี เอ (Coxsackievirus A) ทำให้มีตุ่มพอง หรือแผลในปาก มักพบบริเวณหลังลำคอด้านหลัง หรือเพดานปาก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ มีไข้เฉียบพลัน เจ็บในปากและลำคอ เป็นต้น
วิธีดูแลลูกด้วยตนเองเมื่อลูกเป็นแผลในปาก
แผลในปากมักหายไปภายใน 7-14 วันโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยคุณพ่อคุณแม่อาจดูแลลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- รับประทานยาไอบูโพรเฟน หรือยาอะเซตามิโนเฟน เพื่อรักษาอาการปวดและลดไข้ ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เด็กที่มีภาวะขาดน้ำ หรือเด็กที่อาเจียนเรื้อรัง รับประทานยาไอบูโพรเฟน รวมถึงไม่ควรให้เด็กรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เด็กเสี่ยงเป็นอันตรายร้ายแรงได้
- บรรเทาอาการปวดบริเวณปากด้วยการรับประทานน้ำแข็งหรือไอศกรีมผลไม้แช่แข็ง
- ไม่ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดหรืออาหารที่มีความเป็นกรดสูง
- รับประทานยาลดกรด อาจช่วยบรรเทาอาการปวดแผลในปากได้
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ อาจช่วยฆ่าแบคทีเรียในช่องปาก และบรรเทาอาการอักเสบได้
- ระวังไม่ให้เด็กสัมผัสแผลในปากบ่อย ๆ
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากเด็กมีแผลในปากในลักษณะนี้ หรือดูแลด้วยวิธีข้างต้นแล้วแผลในปากไม่หายหรือมีอาการแย่ลง ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
- เลือดไหลจากแผลไม่หยุด
- มีแผลในปากลึกมาก
- แผลในปากเกิดจากวัตถุที่สกปรก
- มีอาการคล้ายติดเชื้อ เช่น แผลแดงบวม อักเสบ เป็นไข้