backup og meta

เจ็บคอ เกิดได้จากสาเหตุอะไรได้บ้าง และรับมืออย่างไรดี?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    เจ็บคอ เกิดได้จากสาเหตุอะไรได้บ้าง และรับมืออย่างไรดี?

    ใครๆ ก็ชอบอากาศเย็นสบาย แต่อากาศที่เย็นเกินไป หรือเปลี่ยนแปลงบ่อยก็อาจทำให้เราตื่นมาพร้อมกับอาการ เจ็บคอ ได้ ส่วนใหญ่แล้ว อาการเจ็บคอมักเป็นอาการแรกของไข้หวัด ซึ่งมักจะหายไปได้เอง แต่บางครั้ง อาการเจ็บคอของคุณ ก็อาจเกิดจาก สาเหตุ อื่นได้เช่นกัน หากคุณมีอาการเจ็บคอ และไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะหวัดหรือสาเหตุอื่นกันแน่ นี่คือรายละเอียดที่จะช่วยให้คุณแยกแยะอาการเจ็บคอของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น เพื่อจะได้รับมือได้อย่างถูกต้อง

    สาเหตุ ของอาการ เจ็บคอ ที่พบได้บ่อย

    เจ็บคอเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกแสบคอ คันคอ หรือระคายเคืองคอ ซึ่งอาการเจ็บคอมักจะแย่ลงเวลากลืนอาหาร สาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนอาการเจ็บคอจากคออักเสบ (Strep throat) และต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถพบได้น้อยกว่า การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และสาเหตุอื่นๆ ของอาการเจ็บคอที่พบได้ไม่บ่อยอาจต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

    อาการเจ็บคอแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

    เจ็บคอ จากไข้หวัด

    อาการเจ็บคอเนื่องจากไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักมีอาการอื่น ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม ตาแดงหรือน้ำตาไหล ปวดศีรษะแบบไม่รุนแรง ปวดตามร่างกาย และมีไข้ อาการเจ็บคอและอาการอื่นๆ ของหวัด มักหายไปได้เอง และเนื่องจากเป็นอาการเจ็บคอที่เกิดมาจากเชื้อไวรัสหวัด จึงไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำอุ่น บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ พักผ่อนให้เพียงพอ หรืออาจกินยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดไข้ เช่น

  • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) นาพรอกเซน (Naproxen) ช่วยบรรเทาอาการปวดจากการเป็นไข้และลดอาการเจ็บคอ ข้อควรระวังคือ ห้ามให้เด็กกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) หรืออาการแพ้ยาแอสไพริน ซึ่งเป็นเหตุให้สมองเกิดความเสียหายจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • สเปรย์และยาอมแก้เจ็บคอ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและทำให้มีอาการชาบริเวณคอชั่วคราว ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้สเปรย์เกิน 3 วัน
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการไข้หวัดและอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้ไม่ได้ผลกับอาการหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  • เจ็บคอ เนื่องจากคออักเสบ

    คออักเสบ (Strep throat) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (streptococcus) ที่แพร่กระจายจากการสัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่งทางจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ แม้ว่าโรคคออักเสบจะเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็กวัย 5-15 ปี แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน อาการเจ็บคอแบบนี้มักจะรุนแรงกว่าเจ็บคอเนื่องจากหวัด โดยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้

    • เจ็บคอฉับพลัน
    • เบื่ออาหาร
    • เจ็บเวลากลืน
    • ต่อมทอนซิลแดงและมีจุดสีขาว
    • มีไข้

    อาการคออักเสบสามารถเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรง เช่น โรคไข้รูมาติก ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายลิ้นหัวใจ ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอเนื่องจากคออักเสบ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยปกติอาการคออักเสบจะใช้เวลารักษาให้หายได้ภายใน 10 วัน

    เจ็บคอ จากต่อมทอนซิลอักเสบ

    บางครั้งอาการเจ็บคออาจเกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากไวรัสหรือแบคทีเรีย แม้ต่อมทอนซิลจะมีหน้าที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ แต่ต่อมทอนซิลก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน และภาวะต่อมทอนซิลอักเสบจะทำให้มีอาการเจ็บคอรุนแรง ซึ่งวิธีบรรเทาอาการเจ็บคอเนื่องจากต่อมทอนซิลอักเสบมีดังนี้

  • พักผ่อนให้มาก
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน
  • กินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสนุ่ม เช่น วุ้น ข้าวต้ม
  • หลีกเลี่ยงอาหารกรุบกรอบและอาหารรสเผ็ด
  • กินยาบรรเทาปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) และยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • หากอาการต่อมทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นซ้ำ หรือรบกวนการนอนหลับและการหายใจ ควรปรึกษาแพทย์

    เจ็บคอ เนื่องจากสภาพแวดล้อม

    อากาศแห้งๆ ในหน้าหนาวสามารถทำให้เราเจ็บคอได้ เนื่องจากความแห้งของอากาศจะดึงเอาความชุ่มชื้นจากปากและคอ ทำให้รู้สึกแห้ง คันคอ และเจ็บคอ นอกจากนี้ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อมอย่างอื่น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ สารเคมีบางอย่าง ก็อาจทำให้เราเกิดอาการเจ็บคอได้เช่นกัน อาการเจ็บคอเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่การดื่มน้ำเยอะๆ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ และหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ก็จะทำให้หายเจ็บคอได้เอง

    เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

    หากคุณมีอาการเจ็บคอ และมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรไปพบคุณหมอทันที

    • เจ็บคออย่างรุนแรง หรือเจ็บคอนานกว่า 1 สัปดาห์
    • กลืนอาหารลำบาก
    • หายใจได้ลำบาก
    • อ้าปากได้ยาก
    • เจ็บข้อต่อ
    • เจ็บหู
    • มีผื่นขึ้น
    • มีไข้สูงกว่า 101 องศาฟาเรนไฮต์ (38.3 องศาเซลเซียส)
    • มีเลือดในน้ำลายหรือเสมหะ
    • เจ็บคอบ่อย
    • มีก้อนในคอ
    • เสียงแหบนานเกิน 2 สัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 07/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา