backup og meta

เด็กขาดสารอาหาร เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    เด็กขาดสารอาหาร เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

    เด็กขาดสารอาหาร เป็นภาวะที่เกิดจากการร่างกายของเด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโต จนมักส่งผลให้พัฒนาการแต่ละด้านของเด็กไม่เป็นไปตามวัย เช่น ทำให้เด็กเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ตัวเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกัน น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ช้ากว่าปกติ  คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเอาใจใส่โภชนาการของเด็กอยู่เสมอ ด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจช่วยป้องกันภาวะขาดสารอาหารในเด็กได้

    ภาวะขาดสารอาหาร คืออะไร

    ภาวะขาดสารอาหาร  (Malnutrition) คือภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ไขมัน อาจเกิดจากรับประทานอาหารน้อยเกินไป หรือจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น จนส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งยังอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าและเติบโตไม่สมวัย

    เมื่อขาดพลังงาน ร่างกายจะสลายเนื้อเยื่อของตัวเองและเริ่มดึงไขมันที่สะสมในร่างกายมาใช้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ จากนั้นจะสลายสารอาหารอย่างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ผิวหนัง ผม และเล็บ มาใช้เป็นพลังงาน จนเด็กดูซูบผอมและเจริญเติบโตช้าลง ภาวะขาดสารอาหารยังอาจทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ โดยอาจเริ่มจากระบบคุ้มภูมิกัน เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ ทั้งยังอาจหายป่วยหรือแผลหายได้ช้าลง นอกจากนี้ การทำงานของหัวใจยังอาจช้าลงไปด้วย ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เด็กรู้สึกเบื่ออาหารจนไม่รับประทานอาหารตามปกติ และอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบในร่างกาย เช่น

    • สมอง อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ไม่สนใจตัวเอง เก็บตัวไม่สุงสิงกับผู้อื่น
    • หัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
    • ไต อาจทำให้เกิดภาวะร่างกายมีน้ำเกินหรือมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไตไม่สามารถควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติได้
    • ระบบภูมิคุ้มกัน อาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และติดเชื้อรุนแรงขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
    • พัฒนาการของร่างกายและสติปัญญา เช่น ร่างกายไม่เจริญเติบโตตามปกติ มีภาวะแคระเกร็น (Stunting) พัฒนาการทางเพศล่าช้า มวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงลดลง เสี่ยงเกิดโรคกระดูกอ่อน (Rickets) เสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุน พัฒนาการทางปัญญาบกพร่อง

    เด็กขาดสารอาหาร เกิดจากอะไร

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กขาดสารอาหาร มีดังนี้

    • ภาวะทางสุขภาพ โรคมะเร็ง โรคท้องเสียเรื้อรัง โรคไต โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอาจทำให้เด็กเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย หรือโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) โรคโครห์น (Crohn’s disease) อาจทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ไม่เต็มที่ จนอาจส่งผลให้เด็กขาดสารอาหารได้
    • ภาวะทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม อาจส่งผลต่ออารมณ์และความสามารถในการดูแลตัวเอง อาจทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อยลง และเสี่ยงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
    • ปัญหาสุขภาพฟัน เช่น ฟันเก ฟันผุ ฟันโยก ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลงจนขาดสารอาหาร
    • ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน (Eating disorders) เช่น โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) หรือโรคคลั่งผอม ที่ผู้ป่วยจะกังวลกับรูปร่างของตัวเองมากเกินไป จนไม่รับประทานอาหารตามปกติ อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้
    • ยารักษาโรค เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า ยาลดกรด อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น เบื่ออาหาร ท้องร่วง ซึ่งทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ หรือบางกรณีอาจนำยาช่วยถ่ายหรือยาขับปัสสาวะมาใช้ผิดวิธีหรือข้อบ่งชี้เพื่อทำให้ผอม ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการมากยิ่งขึ้น 
    • ปัญหาด้านการเงิน บางครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลอาจไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างหลากหลายจนเกิดภาวะขาดสารอาหาร

    อาการของเด็กขาดสารอาหาร

    ลักษณะของเด็กที่ขาดสารอาหาร อาจมีดังนี้

    • มีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5-10% ภายในเวลา 3-6 เดือนโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก อาจสังเกตได้จากเสื้อผ้าที่สวมอยู่ทุกวันหลวมขึ้น
    • มีพฤติกรรมแปลกไปจากปกติ เช่น หงุดหงิด ร้องไห้งอแง ดูวิตกกังวล กระสับกระส่าย
    • เจริญเติบโตช้า ส่วนสูงหรือชน้ำหนักตัวไม่เพิ่มตามวัย
    • มีพลังงานต่ำและเหนื่อยง่ายกว่าเด็กคนอื่น ๆ
    • ไม่ค่อยอยากอาหาร
    • ผมบางและแห้ง
    • ปวดศีรษะ
    • เลือดออกตามไรฟันบ่อย
    • มองเห็นในที่มืดหรือในเวลากลางคืนไม่ค่อยชัด
    • ตาไวต่อแสงสว่างและแสงที่สะท้อนเข้าตา
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียกล้ามเนื้อ
    • หน้าท้องยุบ
    • ผิวแห้ง แตกเป็นร่อง ดูซีดเซียว
    • มีผื่น
    • ปวดตามข้อ
    • เจ็บป่วยบ่อย
    • แผลหายช้า เกิดรอยช้ำบนผิวหนังได้ง่าย
    • ไม่ค่อยมีสมาธิ
    • รู้สึกหนาวอยู่ตลอด
    • มีภาวะซึมเศร้า

    การวินิจฉัยภาวะขาดสารอาหาร

    คุณหมออาจวินิจฉัยภาวะขาดสารอาหารในเด็กด้วยการสังเกตลักษณะภายนอก พฤติกรรม ไขมันในร่างกาย การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ และอาจต้องเอกซเรย์เพื่อตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกและตรวจระบบทางเดินอาหาร ต้องตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเพื่อวัดระดับวิตามินและแร่ธาตุในร่างกาย และต้องวัดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัวและส่วนสูง คุณหมออาจให้คุณพ่อคุณแม่บันทึกการรับประทานอาหารของเด็กในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อตรวจว่าเด็กได้รับสารอาหารอะไรบ้าง

    วิธีรักษา เด็กขาดสารอาหาร

    การรักษาภาวะขาดสารอาหารในเด็กอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ดังนี้

    • ให้เด็กรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม
    • ให้เด็กรับประทานอาหารที่เสริมสารอาหารชนิดที่ร่างกายขาดไป เช่น ซีเรียลเสริมวิตามิน
    • ให้เด็กรับประทานอาหารว่างหรือขนมระหว่างมื้อ เพื่อให้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นจากมื้ออาหารหลัก
    • ให้เด็กรับประทานเครื่องดื่มที่มีแคลอรีเยอะแต่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ช็อกโกแลตร้อน น้ำผลไม้ นมเสริมแคลอรี่
    • รักษาโรคที่ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารให้หายขาด เช่น โรคซึมเศร้า ภาวะกลืนลำบาก (Swallowing difficult หรือ Dysphagia) เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ

    หากการปรับอาหารไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริม เช่น อาหารเสริมวิตามิน อาหารเสริมแร่ธาตุ ซึ่งควรรับประทานตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท่านั้น การรักษาภาวะขาดสารอาหารในเด็กอาจจำเป็นต้องติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ และวัดน้ำหนักและส่วนสูงเป็นระยะเพื่อตรวจสอบว่ามีพัฒนาการเหมาะสมตามวัยหรือไม่

    เด็กขาดสารอาหาร ป้องกันได้อย่างไร

    ภาวะขาดสารอาหารในเด็ก อาจป้องกันได้ด้วยการให้เด็กรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม ดังนี้

    • อาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปังธัญพืช ข้าว มันฝรั่ง พาสต้า ก๋วยเตี๋ยว เพื่อให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ
    • อาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วลันเตา ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วพู เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้
    • อาหารที่มีแคลเซียม เช่น โยเกิร์ตไขมันต่ำ ซีเรียลเสริมแคลเซียม นมจืดไขมันต่ำ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก
    • อาหารที่มีธาตุเหล็ก เนื้อสัตว์  ไข่ ปลา ผักใบเขียวเข้ม ถั่ว ผลไม้แห้ง เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้
    • ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักบุ้ง ตำลึง มะเขือเทศ มะม่วง กล้วยหอม ฝรั่ง องุ่น
    • ดื่มน้ำและของเหลว เช่น น้ำเปล่า นมจืด น้ำผลไม้ไม่เติมน้ำตาล อย่างน้อย 6-8 แก้ว/วัน

    นอกจากนี้ ควรระวังอย่าให้เด็กรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณมากเกินไปด้วย

    • อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน เค้ก คุกกี้ น้ำอัดลม ไอศกรีม เพราะอาจทำให้เด็กได้รับพลังงานมากไป จนเสี่ยงเกิดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ภาวะฟันผุ เป็นต้น
    • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์แปรรูป เบอร์เกอร์ พาย เค้ก ชีส เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะอาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้

    ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเพียงชนิดเดียวในปริมาณมากเกินไป เช่น ขนมปังธัญพืช เพราะอาจทำให้เด็กอิ่มเร็วและได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ควรเน้นให้ร่างกายของเด็กได้รับสารอาหารหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากการได้รับสารอาหารบางชนิดอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารชนิดอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น วิตามินซีช่วยกระตุ้นการดูดซึมธาตุเหล็ก วิตามินดีกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และต้องระวังอย่าให้เด็กได้รับสารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินซี สังกะสี ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา