ปัญหาการดูดนมจากขวด เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับคุณแม่ เพราะลูกไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้คุณแม่เข้าใจได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจากการดูดนมจากขวด ดังนั้น คุณแม่จึงควรสังเกตอาการลูกอย่างใกล้ชิด หากพบว่าลูกไม่ยอม ดูดนมจากขวด ก็ควรหาสาเหตุและวิธีรับมือที่เหมาะสมโดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลูกไม่ยอม ดูดนมจากขวด เกิดจากอะไร
การที่ลูกไม่ยอมดูดนมจากขวดอาจเกิดจากได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา โดยมีวิธีการสังเกตอาจทำได้ ดังนี้
- ลูกอิ่ม หรือไม่มีความรู้สึกหิวมากพอที่ต้องกินนม
- อาจมีอาการไม่สบายท้อง เช่น จุกเสียด ท้องอืด จึงไม่สามารถกินนมเพิ่มได้
- รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว
- ลูกเพิ่งหย่านม และรู้สึกคุ้นชินกับการกินนมจากเต้า
- เนื้อสัมผัสและรสชาติของนมเปลี่ยนไปจากเดิม
- ลูกไม่ชอบเนื้อสัมผัสของจุกนม
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีปัญหาเกี่ยวกับการ ดูดนมจากขวด
หากลูกแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการกินนมจากขวด
- ปิดปากแน่นสนิท ไม่ยอมเปิดปากกินขวดนม
- มีอาการไอ หรือนมกระเซ็นออกขณะกินนม
- กินนมน้อยกว่าปกติ
- น้ำนมไหลออกมาจากปาก แหวะนมบ่อย
- ร้องไห้ทุกครั้งที่กำลังให้นม หรือมองเห็นขวดนม
- อมหัวนมไว้ในปาก แต่ไม่ยอมดูดนมต่อ
- หันหลังให้ขวดนม
เคล็ด (ไม่) ลับ ฝึกให้ลูกน้อยกินนมจากขวด
การให้ลูกดูดนมจากขวด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้คุณแม่สะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น ซึ่งการปรับพฤติกรรมจากกินนมจากเต้ามาดูดนมจากขวด อาจทำได้ด้วยการฝึกฝน โดยวิธีที่จะช่วยฝึกให้ลูกดูดนมจากขวดอาจทำได้ ดังนี้
- ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมจากการให้นมลูกจากเต้าเปลี่ยนมาให้ดูดนมจากขวดแทน
- รอจนกว่าลูกจะรู้สึกหิวจึงให้ดูดนมจากขวด และให้ลูกกินนมในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอ
- ลองปรับเปลี่ยนขนาดและรูปของขวดนม รวมถึงจุกนมแบบต่าง ๆ เพื่อดูว่าลูกตอบสนองต่อขวดนมและจุกนมแบบไหน