backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

พัฒนาการทารก 2 เดือน และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2023

พัฒนาการทารก 2 เดือน และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม

พัฒนาการทารก 2 เดือน อาจเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน เช่น ด้านการสื่อสาร ด้านกายภาพ ทารก 2 เดือนมักเจริญเติบโตและตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีการส่งเสริมพัฒนาการทารก 2 เดือนให้เหมาะสม เพื่อช่วยกระตุ้นให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ และควรสังเกตสัญญาณเตือนของภาวะพัฒนาการล่าช้าในทารกด้วย หากพบจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

พัฒนาการทารก 2 เดือน มีอะไรบ้าง 

พัฒนาการทารก 2 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต อาจมีดังนี้

  • พัฒนาการด้านกายภาพ ทารกอายุ 2 เดือน มักเริ่มมีน้ำหนักตัวและความยาวของลำตัวเพิ่มขึ้น รู้จักมองตามวัตถุที่เคลื่อนไปมา เพื่อจดจำรูปร่างและลักษณะของวัตถุที่เห็น มีการได้ยินดีขึ้น และเริ่มแบมือ กำมือ หรือเอื้อมมือ เพื่อหยิบจับสิ่งของรอบตัว แขนขาเริ่มงอน้อยลงเวลานอนหงาย หากคุณพ่อคุณแม่อุ้มทารกพาดบ่า จะสังเกตได้ว่าทารกอาจเริ่มยกศีรษะและดันลำตัวขึ้น
  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เมื่อทารกเริ่มมองเห็นและได้ยินชัดขึ้น อาจส่งผลให้ทารกจดจำและตอบสนองด้วยการยิ้ม ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือหันศีรษะไปตามเสียง และหากทารกรู้สึกไม่สบายตัว หงุดหงิด หรือหิว ก็อาจแสดงออกด้วยการร้องไห้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน
  • พัฒนาการด้านการกินอาหาร ทารกอาจเริ่มกินนมได้มากขึ้น เนื่องจากเริ่มดูดนมเป็นและรู้จักใช้ลิ้นช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีขึ้น ทารกวัย 2 เดือนควรกินนมประมาณ 4 ออนซ์ ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงในระหว่างวันและช่วงเวลากลางคืน หากคุณพ่อคุณแม่กังวลว่าน้ำหนักตัวของทารกจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ก็สามารถขอคำปรึกษาจากกุมารแพทย์ได้
  • พัฒนาการด้านการนอนหลับ ปกติทารกต้องการเวลานอนประมาณ 15-16 ชั่วโมง/วัน และอาจหลับ ๆ ตื่น ๆ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ แต่เมื่อทารกอายุได้ 2 เดือน อาจสังเกตได้ว่าการนอนหลับของทารกเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยทารกอาจเริ่มเรียนรู้ที่จะหลับได้ด้วยตัวเอง และหลับได้ไว ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจมีเวลานอนหลับเต็มอิ่มได้มากขึ้น

การส่งเสริมพัฒนาการทารก 2 เดือน

วิธีการส่งเสริมพัฒนาการทารก 2 เดือน ที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ อาจมีดังนี้

  • พูดคุยกับทารก อ่านหนังสือ หรือเปิดเพลงให้ทารกฟัง เพื่อให้ทารกเรียนรู้และจดจำเสียง และช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารและภาษา
  • กอดและอุ้มทารก วิธีนี้อาจช่วยให้ทารกรับรู้ได้ถึงความรักและความอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่
  • เลือกของเล่นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับช่วงวัย โดยอาจเลือกสีที่สะดุดตา เพื่อกระตุ้นให้ทารกมองตามวัตถุหรือพยายามเอื้อมมือคว้า
  • พาทารกออกไปเดินเล่นนอกบ้านด้วยการใช้รถเข็นเด็ก เพื่อความปลอดภัย
  • กระตุ้นให้ทารกยกศีรษะ แขน ขา ด้วยการวางของเล่นไว้รอบ ๆ ตัว เพื่อให้ทารกรู้สึกอยากมองหรืออยากเอื้อมมือไปจับ
  • บริหารร่างกายให้ทารก เช่น จับขาทารกอย่างเบามือแล้วทำท่าเหมือนกำลังถีบจักรยาน เพื่อช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหว

วิธีดูแลทารกให้ปลอดภัย

วิธีดูแลทารกให้ปลอดภัย อาจมีดังนี้

  • ไม่ควรเขย่าตัวทารก เนื่องจากกล้ามเนื้อช่วงคอของทารกยังไม่แข็งแรงนัก และอาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกในสมองได้
  • ไม่ควรให้ทารกนอนคว่ำเพียงอย่างเดียว เนื่องจากทารก 2 เดือนยังพลิกศีรษะและตัวเองไม่ได้ การจับนอนคว่ำโดยไม่มีผู้ปกครองดูแลอาจส่งผลให้ทารกหายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิตกะทันหันได้
  • ปกป้องทารกจากควันบุหรี่
  • ควรระวังทารกสำลักนม
  • จัดเก็บสิ่งของอันตรายให้ไกลจากทารก เช่น ของร้อน ของมีคม
  • เวลาเดินทาง ควรให้ทารกนั่งที่คาร์ซีทสำหรับทารก เพื่อความปลอดภัย โดยติดตั้งคาร์ซีทที่เบาะหลัง ให้ทารกนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังรถ
  • พาทารกไปเข้ารับการวัคซีนให้ครบตามกำหนด
  • ระวังสิ่งของที่ทารกอาจดึงไปปิดหน้าได้ง่าย เช่น ผ้าห่ม ผ้าอ้อมเพราะอาจส่งผลให้ทารกหายใจไม่สะดวกหรือหายใจไม่ออกจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สัญญาณพัฒนาการล่าช้าในทารก 2 เดือน ที่ควรสังเกต

ปัญหาพัฒนาการของทารก 2 เดือน ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของพัฒนาการล่าช้า มีดังนี้

  • ร้องไห้นาน
  • ไม่มองตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ของเล่น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่
  • ไม่ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินด้วยการหันศีรษะ สะดุ้ง หรือส่งเสียงตอบรับ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับนานกว่า 16 ชั่วโมง/วัน นอนหลับยาก
  • กินนมได้น้อย
  • กำมือแน่น ไม่คลายมือออก
  • กล้ามเนื้อ แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง หรือเกร็งเหยียดผิดปกติ
  • หากสังเกตว่าทารกมีอาการดังกล่าว ควรพาทารกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2023

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา