backup og meta

พัฒนาการทารก 3 เดือน และเคล็ดลับการเลี้ยงลูก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2023

    พัฒนาการทารก 3 เดือน และเคล็ดลับการเลี้ยงลูก

    คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตความเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตและ พัฒนาการทารก 3 เดือน ได้ชัดเจนมากขึ้น ทารกวัย 3 เดือนจะเริ่มมีการตอบสนองมากขึ้น เช่น การยิ้ม แสดงกิริยาอยากพูดคุุย เริ่มมองตามสิ่งรอบตัวที่อยู่ตรงหน้า เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ทารกอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเรียนรู้ และการจดจำ คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม

    พัฒนาการทารก 3 เดือน

    พัฒนาการทารก 3 เดือนที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

    • พัฒนาการด้านกายภาพ

    ทารกหลังคลอดอาจมีการสั่นของศีรษะเนื่องจากยังมีกระดูกและกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 3 กระดูกของทารกเริ่มแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณคอที่เชื่อมกับศีรษะ ทำให้คอเริ่มแข็ง กล้ามเนื้อพัฒนามากขึ้นจึงเริ่มควบคุมศีรษะไม่ให้สั่นไปมาได้ อีกทั้งยังอาจมีการเตะแขนเตะขา เอามือทั้ง 2 ข้างเข้าหากันคล้ายผวา กำมือ เอื้อมมือเล่นของเล่น และอาจเริ่มพลิกตัวด้วยตัวเอง หากคุณพ่อคุณแม่อยากตรวจสอบพัฒนาการด้านกายภาพทารก อาจนำของเล่นยื่นให้ทารกเพื่อดูการตอบสนองว่าเริ่มเอื้อมหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ หรือไม่

    • พัฒนาการด้านการได้ยินและการมองเห็น

    เมื่อทารกได้ยินเสียงอาจเริ่มหันศีรษะหรือมองตามเสียงที่ได้ยิน เพราะทารกตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไปเริ่มมีการประสานงานของดวงตาได้ดีขึ้น และสามารถเริ่มจดจำรายละเอียดในสิ่งที่มองเห็นหรือได้ยินได้ การมองเห็นในช่่วงแรกทารกอาจจะเห็นได้ไม่ไกล ไม่ชัด ไม่สามารถแยกสีได้ ลักษณะที่เห็นอาจเป็นแค่สีขาวและสีดำ และต่อมาพัฒนาการมองเห็นเริ่มค่อย ๆ ชัดขึ้น มองเห็นสีต่าง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มหาของเล่นที่มีสีสัน และให้ลูกจับถือ 

    • การสื่อสาร

    เมื่อทารกเริ่มมีพัฒนาการด้านการได้ยินและการมองเห็นที่ดีขึ้น ทารกอาจตอบสนองหรือแสดงกิริยาสื่อสารออกมาว่ารู้สึกอย่างไร เช่น การยิ้ม เปล่งเสียงพูดคุย จ้องหน้าและยิ้มโต้ตอบ หรือร้องไห้ หากทารกรู้สึกหิวหรือไม่สบายตัว มีไข้ และอาจส่งเสียงตอบสนอง คณพ่อคุณแม่ควรเสริมพัฒนาการด้วยกาพูดคุยกับลูกให้มากขึ้น เพื่อฝึกให้ลูกโต้ตอบสื่อสารอย่างรวดเร็ว

    • การพลิกตัว

    ทารกวัย 3 เดือนมีกล้ามเนื้อ ข้อสะโพก ข้อเข่า ที่แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ทารกอาจพลิกตัวได้ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บของทารกควรจัดพื้นที่มีความนิ่มเอาไว้ให้ทารกนอนเล่น เผื่อทารกพลิกตัวกะทันหัน ระวังการกลิ้งตกจากเตียง โต๊ะและที่สูงได้

    ทารกวัย 3 เดือนเริ่มมีกระดูกและกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงขึ้น ทำให้ยกศีรษะขณะนอนหงายและค้างไว้หลายนาทีได้ ชันคอชูคอ บางครั้งอาจเห็นทารกดันหน้าอกขึ้นขณะนอนคว่ำ กระดูกและกล้ามเนื้อของทารกกำลังพัฒนา มีความแข็งแรง คอแข็ง

    เคล็ดลับการส่งเสริมพัฒนาการทารก 3 เดือน

    การส่งเสริมพัฒนาการทารก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ มีดังนี้

  • สื่อสารกับทารกบ่อย ๆ ด้วยการอ่านหนังสือ เปิดเพลง ให้ทารกฟัง หรือสบตา จ้องหน้า พูดคุยกับทารก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ทารกตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ซึ่งทารกอาจจดจำและพูดตามได้เมื่อเติบโต หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับทารกบ่อย ๆ
  • โอบกอดทารก เพื่อให้ทารกรู้สึกปลอดภัย และปล่อยให้ทารกสัมผัสกับนิ้วมือของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  • อุ้มทารกให้อยู่ในลักษณะนอนคว่ำบนที่นอนนิ่ม และนำของเล่นที่มีสีสันสะดุดตามาวางข้างหน้าทารก เพื่อดึงดูดความสนใจและให้ทารกยกศีรษะขึ้นเอง เพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระดูกบริเวณคอ และอาจอุ้มท่ารกเข้าสู่ท่านอนหงายหากสังเกตว่าทารกมีอาการง่วงนอน เพื่อป้องกันอาการหายใจไม่ออกหากเผลอปล่อยให้ทารกนอนคว่ำตลอดทั้งวัน
  • ช่วยเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อด้วยการนำของเล่นไว้ตรงหน้าของทารก เพื่อให้ทารกอยากเอื้อมมือจับ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณคอและหลัง
  • ทารกส่วนใหญ่อาจร้องไห้หนัก เพื่อบ่งบอกความต้องการ เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม หิว หรือเจ็บป่วย คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมรับมือกับอาการนี้ ด้วยการโอบกอดและตรวจสอบสุขภาพทารก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมว่ามีอาการเจ็บป่วยหรือมีความต้องการใด ๆ การดูแลของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกได้เป็นอย่างดี
  • ปัญหาพัฒนาการทารก 3 เดือน ที่ควรพบคุณหมอ

    คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของทารกและควรรีบพาเข้าพบคุณหมอในทันทีหากทารกแสดงพฤติกรรมที่ผิดสังเกต (Red Flag) ดังต่อไปนี้

    • ทารกร้องไห้หนักและนาน โดยปกติทารกส่วนใหญ่จะร้องไห้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ในบางครั้งอาจแยกจากภาวะโคลิคได้ยาก
    • ทารกนอนไม่หลับหรือรวมเวลานอนน้อยกว่า 15 ชั่วโมง/วัน
    • รับประทานนมได้น้อย หรือน้ำหนักขึ้นช้า
    • ไม่มีการตอบสนองต่อเสียงและไม่โฟกัสหรือเพ่งสายตามองสิ่งรอบตัว
    • กำมือแน่นเกินไป
    • ไม่ยิ้มตอบสนองเมื่อถูกกระตุ้น
    • ร่างกายมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
    • ไม่มีปฏิกิริยาสะดุ้งหรือตกใจต่อเสียงที่เกิดขึ้นกะทันหัน
    • อาการฟลอปปี้ซินโดรมในเด็ก (Floppy Baby Syndrome) ที่สังเกตได้จากกล้ามเนื้อของทารกอ่อนแอ หลัง 3 เดือนถ้าคอไม่แข็ง กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ต้องรีบมาพบคุณหมอเพื่อประเมินพัฒนาการ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา