backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน และวิธีเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน และวิธีเสริมพัฒนาการเด็กอย่างเหมาะสม

เด็ก 5 เดือน เป็นช่วงวัยที่มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด น้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้น เด็กจะตัวใหญ่ขึ้น มีพัฒนาการทางกายภาพและการเคลื่อนไหว รวมถึงพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น การเรียนรู้ถึง พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน และวิธีเสริมพัฒนาการเด็กในวัยนี้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์สมวัย

พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน มีอะไรบ้าง

พัฒนาการทั่วไปของเด็กอายุ 5 เดือน อาจมีดังต่อไปนี้

พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม

  • สามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลายขึ้น เช่น ยิ้มเมื่อมีความสุข เบ้ปากเมื่อไม่สบายตัว หัวเราะชอบใจ
  • รู้สึกตื่นตัวเมื่อมีคนเข้ามาใกล้ ยิ้มแย้มเมื่อได้อยู่กับคนหรือเมื่อมีคนสนใจ
  • จำหน้าคุณพ่อคุณแม่หรือคนในบ้านได้

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร

  • สามารถพูดอ้อแอ้ตามประสาทารกและอาจมีบางคำที่เริ่มฟังเหมือนคำพูดจริง ๆ
  • มีการนำเสียงพยัญชนะและสระมาผสมเข้าด้วยกัน เช่น “มา-มา” แต่ยังอาจไม่เข้าใจความหมายของคำ และยังไม่รู้ว่าหมายถึงบุคคลใด แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจหันศีรษะไปตามเสียงเรียกชื่อหรือคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น คำว่า “ไม่”
  • สามารถแสดงท่าทาง เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้เสียงต่าง ๆ ในการสื่อสารเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น ร้องไห้เมื่อถูกขัดใจ ปัดมือออกเมื่อไม่อยากกินอาหาร ส่งเสียงเรียกให้คนเข้ามาหา ชูแขนให้อุ้ม

พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • สามารถขยับศีรษะได้เองและเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น จะเริ่มเอื้อมมือไปหยิบของ ดิ้น พยายามพลิกตัว และกลิ้งไปมา
  • ขยับร่างกายได้มากขึ้น ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ สามารถกระดิกเท้า เหยียดแข้งเหยียดขา หรือเตะขาไปมาอย่างตั้งใจ
  • ยกศีรษะขึ้นได้เมื่อนอนคว่ำและอาจพยายามดันตัวขึ้นเพื่อทรงตัวได้แล้ว
  • มองเห็นได้ชัดขึ้น สามารถโฟกัสสายตาไปยังสิ่งของโดยที่ตาไม่เหล่ได้แล้ว

พัฒนาการด้านสติปัญญา

  • สามารถแยกความแตกต่างของสีในเฉดเดียวกันได้ เช่น สีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน แต่จะให้ความสนใจกับแม่สีที่มีความฉูดฉาด ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีเหลือง
  • เริ่มรับรู้และเข้าใจที่มาของเสียงที่ได้ยิน เช่น เสียงสตาร์ทเครื่องยนต์ เสียงสุนัขเห่า
  • มีการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตา (Hand-Eye Coordination) ที่ดีขึ้น เช่น จับของที่อยู่ใกล้ตัวเข้าปาก

สัญญาณของปัญหาพัฒนาการ เด็ก 5 เดือน

หากพบว่าเด็กอายุ 5 เดือน มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าพัฒนาการไม่ปกติและควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เป็นไปตามปกติและเหมาะสมกับช่วงวัยมากที่สุด

  • มีท่าทางเซื่องซึม
  • มีท่าทางไม่สงบ งอแงอยู่บ่อยครั้ง
  • กล้ามเนื้อแข็งตึง ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
  • ไม่หันศีรษะไปตามทิศทางของสิ่งที่เคลื่อนไหวผ่านตา เช่น ไม่หันตามลูกบอลที่กลิ้งผ่าน
  • ไม่สบตากับคนที่อยู่ตรงหน้า
  • ไม่ตอบสนองต่อเสียง เช่น ไม่แสดงท่าทางตกใจหรือสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังกะทันหัน ไม่หันตามเสียงเรียก
  • ไม่หยิบจับของที่อยู่ใกล้มือ หรือไม่นำสิ่งของเข้าปาก
  • ไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบข้าง
  • ไม่มีท่าทางที่แสดงออกว่าคุ้นเคยหรือรู้จักคนในบ้าน
  • ไม่เตะขาไปมา และขามักจะโค้งงออยู่เสมอ
  • ไม่แสดงท่าทางมีความสุขเมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือไม่ยิ้มออกมาตามธรรมชาติ

วิธีส่งเสริม พัฒนาการ เด็ก 5 เดือน

คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • เด็กในวัยนี้จะสนใจเกี่ยวกับใบหน้าและการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ให้ลองนำกระจกพลาสติกให้เด็กส่องหน้าตัวเอง เพื่อช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสทางการมองเห็น เป็นการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดีของเด็ก โดยอาจให้เด็กส่องกระจกขณะนอนคว่ำเพื่อช่วยให้เด็กได้ฝึกการเงยหน้าและมองไปรอบ ๆ ไปด้วย ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อคอและไหล่ให้แข็งแรงและป้องกันไม่ให้ศีรษะของเด็กแบน
  • พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ หมั่นถามคำถาม และตอบรับเมื่อเด็กส่งเสียงตอบโต้อยู่เสมอ ใช้คำง่าย ๆ ในการสื่อสาร เช่น กิน แมว นอน เย็น การใช้น้ำเสียงและแสดงสีหน้าอย่างเป็นมิตรของคุณพ่อคุณแม่ขณะพูดคุยกับเด็กจะช่วยให้สื่อความคิดและอารมณ์ได้ดีขึ้น
  • เด็กมักชอบเสียงดนตรีและสามารถร้องตามแบบไม่เป็นคำหรือโยกตัวตามจังหวะดนตรีได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเปิดเพลงหลากหลายแนว เช่น คลาสสิก แจ๊ส ป๊อป หรือเปิดเพลงจังหวะสนุก ๆ ที่ให้ความรู้สำหรับเด็ก เช่น เพลงเอบีซี เพลงนับเลข หรือร้องเพลงให้เด็กฟังบ่อย ๆ เพื่อให้ความบันเทิง และอาจช่วยให้เด็กสงบได้ โดยเฉพาะขณะอาบน้ำหรือก่อนเข้านอน
  • ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ การซ่อนของเล่นไว้ในผ้าห่มแล้วให้เด็กลองหาให้เจอ เนื่องจากในวัยนี้เด็กจะเริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของวัตถุ เช่น รู้ว่าสิ่งของจะไม่ได้หายไปแม้จะมองไม่เห็นก็ตาม
  • ให้เด็กเล่นของเล่นที่เรียบง่ายและมีสีสันสดใส เช่น ลูกบอลยาง ตัวต่อพลาสติก ตุ๊กตาเขย่ามีเสียง และสอนให้เด็กจดจำชื่อของเล่นต่าง ๆ อาจช่วยเสริมพัฒนาการ เด็ก 5 เดือน ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา