ฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันที่ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจ เพื่อให้ลูกน้อยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเริ่มโตขึ้น นอกเหนือไปจากการกินข้าว การอาบน้ำ การแปรงฟันด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ช้าเร็วแตกต่างกัน ผู้ปกครองควรค่อย ๆ ฝึกลูกน้อยเมื่อสังเกตเห็นว่าลูกพร้อม ไม่ควรเร่งรัดหรือบังคับลูกมากจนเกินไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ควรเริ่ม ฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ เมื่อไร
การฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ (Potty Training) ไม่มีอายุที่เหมาะสมในการเริ่มต้น แต่ควรเริ่มเมื่อเด็กแสดงสัญญาณว่าพร้อมแล้ว เพราะหากพยายามฝึกการเข้าห้องน้ำก่อนที่ลูกจะพร้อม อาจเป็นเรื่องที่ยากและก่อให้เกิดความลำบากใจทั้งต่อคุณพ่อคุณแม่และลูก เนื่องจากความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อลำไส้และกระเพาะปัสสาวะมักมาพร้อมกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน
ทั้งนี้ เด็กอายุน้อยกว่า 12 เดือน ยังไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ได้ ดังนั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงมักฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่เมื่อลูกมีอายุช่วง 18-24 เดือน แต่ในบางรายอาจสามารถขับถ่ายแบบผู้ใหญ่เมื่ออายุ 36 เดือน ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของการ ฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ ของวัยเตาะแตะมักอยู่ในช่วงวัยประมาณ 27 เดือน
วิธีฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่
การฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่นั้นมีด้วยกันหลายวิธี คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกทำตามคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านี้
เช็คสัญญาณความพร้อม
ก่อนฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมความพร้อมด้วยการตรวจสอบสัญญาณต่าง ๆ ที่บ่งบอกว่าลูกน้อยพร้อมช่วยเหลือตัวเองแล้ว ได้แก่
- ลูกเริ่มแสดงความสนใจที่จะเข้าห้องน้ำ
- ลูกเริ่มบอกหรือส่งสัญญาณให้รู้เมื่อถึงเวลาที่ผ้าอ้อมเปื้อน
- ลูกกลั้นฉี่ได้หรืออาจสังเกตว่าผ้าอ้อมแห้งเป็นเวลานาน
- ลูกเริ่มแต่งตัวเองได้ โดยสามารถดึงกางเกงของตัวเองขึ้นลงได้
พูดคุยพร้อมยกตัวอย่าง
พยายามพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เกี่ยวกับข้อดีของการขับถ่ายในห้องน้ำด้วยตัวเอง โดยอาจจะยกตัวอย่างเด็กคนอื่นๆ ที่ลูกน้อยรู้จัก หรืออาจหานิทานเกี่ยวกับการขับถ่ายด้วยตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่างพร้อมดูภาพประกอบ
ให้รางวัลหรือให้ลูกน้อยเลือกรางวัลด้วยตัวเอง
อาจใช้วิธีให้รางวัลเมื่อลูกสามารถขับถ่ายได้เอง เช่น สติ๊กเกอร์ เพิ่มเวลาในการเล่น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกได้กล่าวเอาไว้ว่า “รางวัลจะสามารถใช้ได้ผลดีที่สุดทันทีในวัยที่ลูกน้อยพร้อมจะฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่”
เตรียมอุปกรณ์เกี่ยวกับการ ฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ ให้พร้อม
อุปกรณ์เกี่ยวกับ การฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ อาจรวมถึงเก้าอี้ ขั้นบันได สบู่ล้างมือ และชุดชั้นในสำหรับเด็ก นอกจากนั้น อาจจะมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่น ๆ ที่อาจมีประโยชน์ ได้แก่ ทิชชู่เปียก ของเล่นชิ้นเล็ก กระโถนสำหรับพกพา
เลือกกระโถนให้กับลูกน้อย
มีตัวเลือกมากมายสำหรับกระโถนที่เหมาะสำหรับเด็ก ลองปล่อยให้ลูกน้อยได้สัมผัสและนั่งบนกระโถน โดยที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะใช้งานได้จริง อาจเริ่มต้นด้วยกระโถนแบบเก้าอี้ โดยวางเอาไว้ที่อื่นที่ไม่ใช่ในห้องน้ำ นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาเลือกซื้อกระโถนสำหรับเด็กแบบเดี่ยว หรือมีแหวนรองรับสำหรับใช้ในห้องน้ำมาตรฐาน
ใช้ของเล่นในการเข้ามาช่วย
ลองใช้ตุ๊กตาหรือของเล่นอื่น ๆ มาแสดงตัวอย่างให้ลูกน้อยดูเกี่ยวกับ การฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ แล้วลองพูดคุยเกี่ยวกับความสุขของตุ๊กตาที่ได้อยู่บนกระโถนให้ลูกน้อยฟัง
เคล็ดลับในการ ฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่
นอกเหนือไปจากวิธีต่าง ๆ สำหรับฝึกลูกน้อยขับถ่ายด้วยตัวเองแล้วนั้น ยังมีเคล็ดลับที่อาจช่วยให้ฝึกลูกขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. เริ่มฝึกให้ลูกใส่ชุดชั้นใน นอกเหนือจากการใส่ผ้าอ้อม อาจใส่กางเกงชั้นในทับอีกชั้น และค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนนำผ้าอ้อมออกเมื่อลูกสามารถบอกถึงช่วงเวลาที่ต้องการปัสสาวะหรืออุจจาระได้
2. การใช้ตัวจับเวลา โดยหาโอกาสเหมาะ ๆ ที่จะนำเสนอการเข้าห้องน้ำให้กับลูกไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังอาหาร ตื่นนอน และก่อนออกจากบ้าน อุปกรณ์จับเวลาหรือนาฬิกาเข้ามาช่วยให้ฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ ตามตารางเวลา จะทำให้การฝึกนั้นกลายเป็นเรื่องที่สนุก ทั้งยังให้ความรู้อีกด้วย
3. ให้คำชมเชยกับลูกน้อย เช่น การปรบมือ ร้องเพลง และการเฉลิมฉลองในแต่ละครั้งที่พวกเขาพยายามใน การฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ จะทำให้พวกเขารู้สึกกระตือรือร้นและได้รับกำลังใจซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างได้ผลและเหมาะสำหรับเด็กวัยหัดเดิน
4. ใช้หนังสือเป็นตัวช่วย ลองหาหนังสือเล่มที่ลูกชอบไปวางไว้ในห้องน้ำ อาจช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยต้องการเข้าห้องน้ำแบบผู้ใหญ่ แต่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งในห้องน้ำนานเกินไป
5. ขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว หากเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับการฝึกลูกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ ลองเปลี่ยนให้คนอื่นมาฝึกแทน ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี่ยงที่ช่วยดูแลเด็ก นอกจากนั้น ไม่ควรบังคับ และปล่อยให้ลูกพร้อม เพื่อที่จะได้ไม่กดดันและทำให้ลูกน้อยเครียดมากจนเกินไป