พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะ หมายถึง พัฒนาการของเด็กอายุระหว่าง 1-3 ปี ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยหัดเดิน เด็กในช่วงอายุนี้มักเริ่มจดจำสิ่งรอบตัว มีความอยากรู้อยากเห็น เริ่มสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ และท่าทางการแสดงออกที่สื่อถึงอารมณ์และความต้องการได้ดีขึ้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมลูกรักแล้ว ควรต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยในวัยเตาะแตะที่สามารถเคลื่อนไหวไปได้ไกลมากขึ้นด้วย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยในช่วงวัยเตาะแตะระหว่างอายุ 1-3 ปี โดยพัฒนาการที่เห็นได้ชัดในช่วงอายุนี้ ก่อนเข้าสู่ช่วงวัยหัดเดินนั้น มีดังนี้
-
พัฒนาการด้านสังคม และอารมณ์
ลูกรักจะเริ่มสนใจ พร้อมมีปฏิกิริยากับผู้คนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และเด็กคนอื่น ๆ รวมถึงอาจมีการแสดงอารมณ์โกรธ โวยวาย เกรี้ยวกราดออกมา เมื่อพวกเขารู้สึกไม่พอใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องค่อย ๆ เริ่มสอนให้ลูกน้อยรู้จักควบคุมอารมณ์
-
พัฒนาการด้านการเรียนรู้ความเข้าใจ
เด็กช่วงวัยเตาะแตะ จะมีการจดจำรายละเอียดพฤติกรรมของคนรอบข้างและนำไปเลียนแบบ อีกทั้งยังจำแนกความเหมือน และความแตกต่างของสิ่งของ หรือของเล่นต่าง ๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย
-
พัฒนาการด้านกายภาพ
ลูกน้อยจะเริ่มมีการหัดเคลื่อนไหวด้วยการตั้งแขนขึ้นเพื่อผลักดันตัวเอง และใช้เท้าดันกับพื้นให้ตัวเองไปด้านหน้า สำหรับเด็กบางคนอาจหัดยืน เดิน ด้วยการหาที่ยึดจับ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกฝึกฝนและทำอะไรด้วยตนเอง แต่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่คนเดียวเพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
การปล่อยให้ลูกฝึกฝนการยืน เดิน หยิบจับสิ่งของเอง เป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และได้ฝึกฝนการทรงตัว, ฝึกฝนความสัมพันธ์ของสายตาควบคู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย
-
พัฒนาการด้านภาษา
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดประโยคซ้ำ ๆ ให้ลูกรักได้ยินเป็นประจำพวกเขาจะเริ่มเปล่งเสียง หรือพูดคำเหล่านั้นออกมาตามการจดจำจากการได้ยิน เช่น พ่อ แม่ ใช่ ไม่ ในบางครั้งการได้ยินประโยคยาวมาก ๆ ก็อาจทำให้ลูกรักมีอาการหงุดหงิดได้ เพราะเด็ก ๆ จะคิดว่าตนเองไม่สามารถเลียนแบบแล้วพูดออกมาได้อย่างที่ต้องการ จึงแนะนำสอนการพูดเป็นคำๆ วลีสั้น ๆ พูดช้า ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกขยับปากตามได้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังสำหรับ เด็กช่วงวัยเตาะแตะ
เนื่องจาก เด็กช่วงวัยเตาะแตะ ค่อนข้างมีพฤติกรรมที่ซุกซน อยากรู้อยากเห็น และเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว เมื่อคลาดสายตาแม้แต่นิดเดียวก็อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง ดังนี้
- เก็บอุปกรณ์ของมีคม หรือเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น มีด กรรไกร ไว้ในที่ปลอดภัยที่ลูกเอื้อมจับไม่ถึง
- อย่าปล่อยลูกรักไว้ตามลำพังโดยเฉพาะในอ่างอาบน้ำ กะละมัง ใกล้สระน้ำ หรือบริเวณที่มีน้ำลึก
- ล็อคประตูห้อง ประตูบ้าน และประตูรั้วทุกครั้ง
- ปิดกั้นทางขึ้นลงบันได เพื่อป้องกันลูกน้อยปีนบันไดและพลัดตกลงมาบาดเจ็บได้
- เก็บสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ไว้ให้ห่างจากลูกน้อย อาจเก็บเข้าตู้ที่มีกุญแจล็อคป้องกันเด็กเปิดรื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อมีสีสันที่ดึงดูดให้เด็ก ๆ อยากหยิบจับ และอาจนำมากัดหรือเข้าปากจนเกิดอันตรายได้
- ให้เด็กอยู่ห่างไกลจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อันตรายมีความร้อนสูง เช่น เตารีด เครื่องทำความร้อน รวมทั้งปลั๊ก สายไฟ ต่าง ๆ
ในปัจจุบันมีการจำกัดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ในขนาดที่เหมาะสมด้วยการนำกำแพงโฟมกั้นเอาไว้ พร้อมกับมีของเล่นเล็กน้อยให้พวกเขาได้อยู่ภายในขอบเขต หรือหากบ้านใดที่มีห้องว่างก็อาจนำมาใช้เป็นห้องสำหรับลูกรักโดยเฉพาะก็ย่อมได้ แต่ควรมีผู้ใหญ่ดูแล และเฝ้าสังเกตอยู่ด้วย ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังเด็ดขาด
เคล็ดลับการเลี้ยง เด็กช่วงวัยเตาะแตะ
ถึงแม้ เด็กช่วงวัยเตาะแตะ จะไม่ค่อยอยู่กับที่ และดูเหมือนจะยังไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการจะบอกได้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มค่อย ๆ สอนลูกน้อยให้เริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยการดูแลและบอกเล่าเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งทำตามเทคนิคต่าง ๆ ดังนี้
- ฝึกให้ลูกน้อยคุ้นเคยกับตารางต่าง ๆ ในการทำกิจวัตรประจำวันเพื่อฝึกความรับผิดชอบ เช่น ช่วงเวลาไหนควรกิน ช่วงเวลาไหนควรเล่น ช่วงเวลาไหนควรนอนพักผ่อน
- หากลูกน้อยแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ควรพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน หลีกเลี่ยงการกระทำรุนแรง อาจใช้วิธีแสดงเป็นตัวอย่างให้เห็น หรือจับลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง และพูดสอนแทน แม้เขาจะยังไม่เข้าใจแต่การใช้น้ำเสียง แววตา ท่าทางก็สามารถสื่อสารถึงอารมณ์ของพ่อแม่ได้
- กระตุ้นพัฒนาการลูกรักให้เกิดการเรียนรู้ เช่น การอ่านหนังสือด้วยกัน เปิดเพลง เล่นของเล่นเสริมทักษะต่าง ๆ
- ปล่อยให้ลูกรักมีอิสระในการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ และคอยสังเกตการณ์อยู่ข้าง ๆ เพื่อคอยเตือนว่าสิ่งไหนควรทำ และสิ่งไหนอันตรายเกินไป
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับลูกรัก เช่น การเล่น การพูดคุยโต้ตอบ เต้นท่าทางง่าย ๆ ประกอบเพลง เปิดหนังสือเล่านิทานหรือเรื่องราวสนุก ๆ ถึงแม้ลูกรักจะยังสื่อสารได้ไม่เป็นคำมากนัก
หากมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับ พัฒนาการเด็กวัยเตาะแตะ สามารถเข้าขอรับคำปรึกษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ได้ เนื่องจากเด็ก ๆ แต่ละคนย่อมมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป และควรได้รับการส่งเสริมอย่างเข้าใจและเหมาะสม