backup og meta

บูเดโซไนด์ (Budesonide)

บูเดโซไนด์ (Budesonide)

ข้อบ่งใช้ บูเดโซไนด์

บูเดโซไนด์ ใช้สำหรับ

ยาบูเดโซไนด์ (Budesonide) มักใช้เพื่อรักษาสภาวะบางอย่างของลำไส้ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) ยาชนิดนี้ไม่สามารถรักษาอาการเหล่านี้ให้หายขาด แต่สามารถลดอาการของโรคลงได้ เช่น อาการปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น ยาบูเดโซไนด์เป็นยาลดการอักเสบ หรือคอร์ติโคสเตียรอยด์ฮอร์โมน (corticosteroid hormone) ทำงานโดยการลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

วิธีการใช้ บูเดโซไนด์

  • รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก โดยปกติแล้วคือวันละครั้งในตอนเช้า รับประทานยาพร้อมกับดื่มน้ำเต็มแก้ว (8 ออนซ์/240 มล.) เว้นแต่ว่าแพทย์จะเปลี่ยนแปลงปริมาณ
  • กลืนยาลงไปทั้งเม็ด อย่าบดเคี้ยว หรือแบ่งครึ่งยา เพราะจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้ หากคุณใช้ยาแบบออกฤทธิ์นาน
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ การตอบสนองต่อการรักษา และอายุ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุต หรือดื่มน้ำเกรปฟรุต ขณะที่กำลังใช้ยานี้ เว้นแต่ว่าแพทย์จะอนุญาต เพราะเกรปฟรุตนั้นอาจเพิ่มปริมาณของยาบางชนิดในร่างกายคุณได้
  • หากคุณกำลังรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอื่นอยู่ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (prednisone) คุณไม่ควรหยุดใช้ยานั้น เว้นแต่ว่าแพทย์จะสั่งเนื่องด้วยสภาวะบางอย่าง เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และอาจทำให้คุณมีอาการปวดศีรษะ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ หรือมีอาการแย่ลงได้ หากหยุดใช้ยากะทันหัน ในบางครั้งแพทย์อาจสั่งให้คุณค่อย ๆ ลดขนาดยาเดิมของคุณลง เมื่อคุณเปลี่ยนมาใช้ยาบูเดโซไนด์ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม และรายงานในทันทีหากมีอาการถอนยาเกิดขึ้น
  • รับประทานยานี้เป็นประจำตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้รับประโยชน์สูงสุดจากยา และเพื่อให้ง่ายต่อการจำควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน อย่าเพิ่มขนาดยา ใช้ยาบ่อยเกินกำหนด หรือนานกว่าที่แพทย์สั่ง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

การเก็บรักษา บูเดโซไนด์

  • ควรเก็บในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย
  • เก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรทิ้งบูเดโซไนด์ลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน

บูเดโซไนด์บางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน ตรวจสอบฉลากข้างบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามแพทย์และเภสัชกรเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ บูเดโซไนด์

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์ทราถึงอาการเหล่านี้

  • หากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ร่วมด้วย รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาที่จำหน่ายโดยแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เองโดยเภสัชกร และสมุนไพรอื่นๆ
  • มีประวัติการแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่ออกฤทธิ์ของยาบูเดโซไนด์ หรือยาอื่นๆ
  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคต่อไปนี้คือ โรคต้อกระจก ความดันโลหิตสูง โรคตับ ปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคเบาหวาน ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะหรือลำไส้ เช่น โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticulitis) หรือมีบาดแผลในกระเพาะหรือลำไส้ โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) มีการติดเชื้อในอดีตหรือปัจจุบัน เช่น วัณโรค ผลการตรวจคัดกรองวัณโรคเป็นบวก ติดเชื้อเริม ติดเชื้อรา สภาวะทางด้านจิตใจ หรืออารมณ์ เช่น วิกลจริต วิตกกังวล โรคซึมเศร้า
  • การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน สามารถทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความตึงเครียดทางกายภาพได้ยากขึ้น ดังนั้น ก่อนการผ่าตัด หรือการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือหากคุณมีอาการป่วยหรือบาดเจ็บที่รุนแรง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยานี้ หรือเคยใช้ยานี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • การดื่มสุราเป็นประจำขณะใช้ยานี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในกระเพาะ ควรจำกัดปริมาณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยานี้อาจบดบังสัญญาณของการติดเชื้อได้ และอาจทำให้มีโอกาสคุณติดเชื้อมากขึ้น หรือทำให้การติดเชื้อที่เป็นอยู่แย่ลง ดังนั้น จึงควรล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น เช่น โรคอีสุกอีใส โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ โปรดปรึกษากับแพทย์ หากคุณเคยสัมผัสกับการติดเชื้อ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

ยาบูเดโซไนด์อาจทำให้วัคซีนทำงานได้ไม่ดีตามปกติ ดังนั้น จึงไม่ควรกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือฉีดวัคซีนขณะที่ใช้ยานี้ โดยไม่ปรึกษากับแพทย์ก่อน หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ที่พึ่งผ่านการรับวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สูดดมทางจมูก

ยานี้อาจชะลอการเจริญเติบโตของเด็กได้ หากใช้เป็นเวลานาน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ควรไปรับการตรวจกับแพทย์เป็นประจำ เพื่อวัดระดับส่วนสูง และการเจริญเติบโต

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

บูเดโซไนด์จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ หมวด B (ยาสูดพ่น) และ หมวด C (ยาเม็ดรับประทาน) โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาบูเดโซไนด์

อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการทั้งหมดของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น โปรดติดต่อแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับผลข้างเคียง

  • ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคุณอ่อนแอลง และอาจลดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อ หรือทำให้คุณมีโอกาสที่จะติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นไข้ หนาวสั่น
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือใช้ซ้ำๆ อาจทำให้คุณติดเชื้อรา หรือยีสต์ในช่องปากได้ ติดต่อแพทย์ในทันทีหากคุณสังเกตเห็นคราบขาวในช่องปาก หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดมีการเปลี่ยนแปลง
  • อาการเหนื่อยล้าผิดปกติ
  • ปัญหาในการมองเห็น
  • มีรอยช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย
  • ใบหน้า ลิ้น ลำคอบวม
  • การเจริญเติบโตของเส้นขนผิดปกติ
  • มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน ภาวะกระสับกระส่าย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือปวดกล้ามเนื้อ
  • ผิวบางขึ้น แผลหายได้ช้า
  • หายใจติดขัด

โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาบูเดโซไนด์สามารถเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้ มีดังนี้

  • ยาอัลเดสลูคิน (Aldesleukin)
  • ยามิฟีพริสโตน (Mifepristone)
  • ยาที่สามารถทำให้เกิดการเลือดออกหรือรอยช้ำ รวมทั้งยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาดาบิกาแทรน (Dabigatran) หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
  • ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) เซเลโคซิบ (Celecoxib) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

สำหรับยาแอสไพริน แพทย์อาจกำหนดให้คุณใช้ในขนาดยาที่ต่ำ เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง (โดยปกติจะใช้ยาในขนาด 81-325 มก. ต่อวัน) และควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

ยาบูเดโซไนด์อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรของคุณทราบทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาบูเดโซไนด์อาจทำปฎิกิริยากับอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการทำงานของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอื่นๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาบูเดโซไนด์อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการใช้ยานี้

ขนาดยา บูเดโซไนด์ สำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคหอบหืด

เฟล็กแฮเลอร์  [FLEXHALER (R)]

  • ขนาดยาเริ่มต้นอยู่ที่ 360 ไมโครกรัม สูดดมเข้าทางปากวันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยบางรายอาจใช้ขนาดยาเริ่มต้นที่ 180 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช่นกันตามแพทย์กำหนด
  • ขนาดยาสูงสุด 720 ไมโครกรัม สูดดมเข้าทางปากวันละ 2 ครั้ง

เทอร์บูแฮเลอร์ [TURBUHALER(R)]

  • ขนาดยาเริ่มต้นอยู่ที่ 400 ถึง 2400 ไมโครกรัม แบ่งสูดดมเข้าทางปากทุกวัน
  • อาจมีการพิจารณาการให้ยาวันละครั้งสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาในขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ควรให้ยาในตอนเย็น

คำแนะนำ

  • การควบคุมโรคหอบหืดให้ดีขึ้น อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ประโยชน์สูงสุดมักจะเกิดขึ้นภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยแต่ละรายอาจเจอกับระยะเวลาเริ่มต้นที่ยาให้ผลการรักษา และระดับการบรรเทาอาการที่แตกต่างกัน
  • หากเกิดอาการหอบหืดขึ้น ควรใช้การใช้ยาพ่นขยายหลอดลม (Bronchodilators) แบบออกฤทธิ์เร็ว เพื่อบรรเทาอาการในทันที ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อบรรเทาภาวะหลอดลมหดเกร็งฉับพลัน (Acute bronchospasm)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคโครห์น (Crohn’s Disease) แบบฉับพลัน

ยาแคปซูลเคลือบชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric coated capsules)

  • ขนาดยาเริ่มต้น 9 มก. รับประทานวันละครั้งในตอนเช้า เป็นเวลา 8 สัปดาห์
  • อาจให้ซ้ำได้หากอาการกำเริบอีก

คำแนะนำ

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคโครห์นในระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง ที่เกี่ยวข้องกับลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) หรือลามไปถึงลำไส้ใหญ่ อาจมีการสลับเปลี่ยนจากยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) แบบรับประทานมาเป็นยานี้ โดยไม่มีรายงานภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ (adrenal insufficiency) ควรค่อยๆลดขนาดยาเพรดนิโซโลนลงในขณะที่เริ่มต้นการรักษาด้วยยานี้
  • ควรกลืนยาแคปซูลลงไปทั้งเม็ด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเกรปฟรุตตลอดช่วงการรักษาด้วยยานี้
  • เมื่ออาการของผู้ป่วยสามารถควบคุมได้แล้ว ค่าดัชนีกิจกรรมของโรคโครห์น [CDAI] ต่ำกว่า 150) ควรเริ่มใช้ยาในขนาดประคับประคองการรักษา

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคโครห์น – ประคับประคองการรักษา

ยาแคปซูลเคลือบชนิดแตกตัวในลำไส้ (Enteric coated capsules)

  • ขนาดยาเริ่มต้น 6 มก. รับประทานวันละครั้งในตอนเช้า เป็นเวลา 3 เดือน
  • หากสามารถควบคุมอาการได้นาน 3 เดือน ควรค่อยๆ ลดขนาดยาเพื่อการหยุดยาอย่างสมบูรณ์

คำแนะนำ

  • ควรเริ่มการรักษาแบบประคับประคอง เมื่ออาการของผู้ป่วยสามารถควบคุมได้แล้ว (ค่าดัชนีกิจกรรมของโรคโครห์น [CDAI] ต่ำกว่า 150)
  • ควรกลืนยาแคปซูลลงไปทั้งเม็ด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเกรปฟรุตตลอดช่วงการรักษาด้วยยานี้
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แสดงให้ถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของการรักษาแบบประคับประคอง ที่ยาวนานกว่าเกินกว่า 3 เดือน

การใช้งาน

เพื่อคงสภาพช่วงที่อาการบรรเทาลง ของโรคโครห์นในระดับไม่รุนแรงถึงปานกลางที่เกี่ยวข้องกับลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) หรือลามไปถึงลำไส้ใหญ่ เป็นเวลา 3 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)

ยาเม็ดออกฤทธิ์นาน (Extended-release tablets)

  • ขนาดยาเริ่มต้น: 9 มก. รับประทานวันละครั้ง ในตอนเช้า
  • ระยะเวลาในการรักษา นานถึง 8 สัปดาห์

แบบโฟมฉีดสวนทางทวารหนัก (Rectal Foam)

สำหรับโรคลำไส้ใหญ่ส่วนปลายอักเสบชนิดเป็นแผลระดับไม่รุนแรงถึงปานกลางที่ขยายไปถึง 40 ซม. จากปากทวารหนัก (anal verge)

ฉีดพ่นยา 1 ครั้งทางทวารหนัก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วตามด้วยฉีดพ่นยา 1 ครั้งทางทวารหนัก วันละคร้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์

คำแนะนำ

หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเกรปฟรุตตลอดช่วงการรักษาด้วยยานี้

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับ

เนื่องจากผลระดับความบกพร่องของตับที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่มีภาวะตับบกพร่องในระดับปานกลางถึงรุนแรงควรมีการเฝ้าระวังติดอาการของภาวะคอร์ติซอลมากเกินไป (hypercorticism) ควรพิจารณาการหยุดใช้ยาทันทีหากกำลังมีสัญญาณเตือนถึงภาวะคอร์ติซอล

ความบกพร่องของตับระดับรุนแรง (ไชด์พิว [Child-Pugh] กลุ่มซี) ควรหลีกเลี่ยงการใช้

ความบกพร่องของตับระดับปานกลาง (ไชด์พิว [Child-Pugh] กลุ่มบี)

สำหรับผู้ใหญ่ ควรพิจารณาลดขนาดยาไปที่ 3 มก. และรับประทานวันละ 1 ครั้ง

สำหรับเด็ก อาจต้องมีการปรับขนาดยา แต่ยังไม่มีคำแนะนำอย่างเฉพาะเจาะจง ดังนั้นจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

การปรับขนาดยา

ผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังการเลือกขนาดยา โดยปกติแล้วควรเริ่มที่ยาในขนาดต่ำ

ขนาดยา บูเดโซไนด์ สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคหอบหืด

ยาแขวนตะกอนสำหรับสูดดม (Inhalation Suspension) ให้ผ่านเครื่องพ่นยา

  • เด็กที่มีอายุ 1 ถึง 8 ปี ขนาดยาจะเริ่มต้น หรือสูงนั้นขึ้นอยู่กับประวัติการรักษาโรคหอบหืดก่อนหน้านี้
  • สำหรับเงื่อนไขในการรักษาครั้งก่อนที่ได้ใช้ยาขยายหลอดลมเพียงอย่างเดียว 0.5 มก. ควรใช้ยาบูเดโซไนด์สูดดมเข้าทางปากวันละครั้ง หรือ 0.25 มก.
  • สำหรับเงื่อนไขในการรักษาครั้งก่อนได้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบสูดดม 0.5 มก. ควรใช้ยาบูเดโซไนด์ วันละครั้ง วันละสองครั้งในปริมาณ 0.25 มก.
  • สำหรับเงื่อนไขในการรักษาครั้งก่อนได้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์แบบรับประทาน 1 มก. ควรใช้ยาบูเดโซไนด์วันละครั้ง ในปริมาณ 0.5 มก.

คำแนะนำ

สำหรับผู้ป่วยมีอาการที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่มีสเตียรอยด์ อาจพิจารณาขนาดยาแขวนตะกอนสำหรับสูดดมเริ่มต้นคือ 0.25 มก. วันละครั้ง

เฟล็กแฮเลอร์ [FLEXHALER(R)] ยาผงสำหรับสูดพ่นทางปาก (oral inhaler)

  • เด็กที่มีอายุ 6 ถึง 12 ปี ขนาดยาเริ่มต้น 180 ไมโครกรัม สูดพ่นเข้าทางปากวันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยบางรายอาจต้องการขนาดยาเริ่มต้นที่ 360 ไมโครกรัม หรือตามแพทย์กำหนด
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา อาจเพิ่มขนาดยาได้หลังจาก 1 – 2 สัปดาห์ หากการตอบสนองไม่เพียงพอ หลังจากโรคหอบหืดนั้นอยู่ตัวแล้ว ให้ปรับขนาดยาไปที่ขนาดยาต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
  • ขนาดยาสูงสุดในการใช้สำหรับเด็กจะอยู่ที่ 360 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง

เทอร์บูแฮเลอร์ [TURBUHALER(R)] ยาผงสำหรับสูดพ่นทางปาก (oral inhaler)

  • เด็กที่มีอายุ 6 ถึง 12 ปี ขนาดยาเริ่มต้น 100 – 200 ไมโครกรัม สูดพ่นเข้าทางปากวันละ 2 ครั้ง
  • ขนาดยาประคับประคองการรักษา อาจปรับระดับให้อยู่ในขนาดยาที่ต่ำที่สุด

เทอร์บูแฮเลอร์ [TURBUHALER(R)] ยาผงสำหรับสูดพ่นทางปาก (oral inhaler)

  • เด็กที่มีอายุ มากกว่า 12 ปีขึ้ไป ขนาดยาเริ่มต้น 400 – 2400 ไมโครกรัม แบ่งสูดพ่นเข้าทางปากทุกวัน
  • ขนาดยาปกติอยู่ที่  200 – 400 ไมโครกรัม สูดพ่นเข้าทางปากวันละ 2 ครั้ง ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดที่สูงกว่า เป็นเวลานานกว่าหรือสั้นกว่า หลังจากโรคหอบหืดนั้นอยู่ตัวแล้ว ให้ปรับขนาดยาไปที่ขนาดยาต่ำสุดเท่าที่ยังมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
  • อาจมีการพิจารณาการให้ยาวันละครั้งสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาในขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวัน และควรให้ยาในตอนเย็น

คำแนะนำ

  • การควบคุมโรคหอบหืดทีดีขึ้น อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง มักจะได้ประโยชน์สูงสุดภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยแต่ละรายอาจเจอกับระยะเวลาเริ่มต้นที่ยาให้ผลการรักษา และระดับการบรรเทาอาการที่แตกต่างกัน
  • หากเกิดอาการของโรคหอบหืดขึ้นระหว่างมื้อยา ควรใช้การใช้ยาพ่นขยายหลอดลม (Bronchodilators) แบบออกฤทธิ์เร็ว เพื่อบรรเทาอาการในทันที ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อบรรเทาภาวะหลอดลมหดเกร็งฉับพลัน
  • อาจให้ยาวันละครั้ง เว้นแต่ว่าจะไม่เพียงพอในการควบคุมโรค หากเป็นเช่นนั้นควรแบ่งให้ยาหลายมื้อ การปรับขนาดยาควรทำเท่าที่จำเป็น
  • หลังจากโรคหอบหืดนั้นอยู่ตัวแล้ว ให้ปรับขนาดยาไปที่ขนาดยาต่ำสุดเท่าที่ยังมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคโครห์น (Crohn’s Disease) – ฉับพลัน

เด็กที่มีอายุ 8 ปีขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 25 กก. รับประทานวันละครั้ง ในปริมาณ 9 มก. ในตอนเช้า เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วตามด้วย 6 มก. รับประทานวันละครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์

คำแนะนำ

กลืนยาทั้งเม็ด หลีกเลี่ยงน้ำเกรปฟรุตตลอดช่วงเวลาในการรักษา

การใช้งาน

สำหรับการรักษาโรคโครห์นในระดับไม่รุนแรงหรือปานกลางที่เกี่ยวข้องกับลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) หรือลามไปถึงลำไส้ใหญ่

ข้อควรระวัง

  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาแคปซูลเคลือบชนิดแตกตัวในลำไส้ (enteric coated capsules) สำหรับผู่ป่วยที่อายุต่ำกว่า 8 ปี
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาเม็ดแบบออกฤทธิ์นาน (extended-release tablets) สำหรับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผงยาสำหรับสูดพ่นเข้าทางปาก (oral inhaler) สำหรับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ยังไม่มีการพิสูจน์ความความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาแขวนตะกอนสำหรับพ่นเป็นฝอยละอองสูดดมเข้าทางช่องปาก (oral nebulizer) สำหรับผู้ป่วยที่อายุ 12 เดือนจนถึง 8 ปี

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาแคปซูล
  • ยาแขวนตะกอนสำหรับสูดดม
  • ยาพ่นจมูก

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานบูเดโซไนด์อาจควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาก่อนได้รับอนุญาตจากแพทย์

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Budesonide EC. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-22008/budesonide-oral/details. Accessed January 9, 2018.

Budesonide Dosage. https://www.drugs.com/dosage/budesonide.html. Accessed January 9, 2018.

Budesonide  https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/budesonide-inhalation-route/description/drg-20071233 Accessed January 9, 2018.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/04/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

โปรไบโอติกส์ แบคทีเรียชนิดดีที่จะช่วยทำให้ลำไส้ของเราสุขภาพแข็งแรง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/04/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา