Levothyroxine ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) ยานี้จะทดแทน หรือเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งปกติแล้วจะผลิตจากต่อมไทรอยด์ให้มากขึ้น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์เสียหาย จากการฉายรังสีหรือจากยา หรือหากเคยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไป
[embed-health-tool-bmi]
ข้อบ่งใช้
Levothyroxine ใช้สำหรับ
ยา เลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) ใช้เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ (hypothyroidism) ยานี้จะทดแทน หรือเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งปกติแล้วจะผลิตจากต่อมไทรอยด์ให้มากขึ้น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์เสียหาย จากการฉายรังสีหรือจากยา หรือหากเคยผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไป การมีฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพียงพอนั้นสำคัญกับการรักษาระดับการทำงานที่ปกติของจิตใจและร่างกาย สำหรับเด็กนั้น การมีฮอร์โมนไทรอยด์เพียงพอสำคัญต่อการพัฒนาที่ปกติทางจิตใจและร่างกาย
ยานี้ยังใช้เพื่อรักษาความผิดปกติอื่นๆ ของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคคอพอก หรือโรคมะเร็งไทรอยด์
ยานี้ไม่ควรใช้เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก นอกเสียจากจะมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
วิธีการใช้ Levothyroxine
รับประทานยานี้ตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละครั้งขณะท้องว่าง 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนมื้อเช้า รับประทานยานี้พร้อมกับดื่มน้ำเต็มแก้ว นอกเสียจากแพทย์จะสั่งให้ทำแบบอื่น
หากคุณใช้ยาในรูปแบบแคปซูล ควรกลืนยาไปลงทั้งเม็ด อย่าแบ่ง บด หรือเคี้ยวยา ผู้ที่ไม่สามารถกลืนยาแคปซูลลงไปทั้งเม็ดได้ (เช่น ทารกหรือเด็กเล็ก) ควรใช้ยารูปแบบเม็ด
สำหรับทารกหรือเด็กที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดลงไปทั้งเม็ดได้ สามารถบดเม็ดยาและผสมกับน้ำ 1 ถึง 2 ช้อนชา (5 ถึง 10 มล.) แล้วให้ยาโดยใช้ช้อนหรือหลอดหยดยาในทันที อย่าเตรียมส่วนผสมเก็บไว้ หรือผสมยากับนมถั่วเหลือผงสำหรับทารก โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก สภาวะทางการแพทย์ ผลการตรวจในห้องแล็บ และการตอบสนองต่อการรักษา
ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุด เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
อย่าหยุดใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษากับแพทย์ การบำบัดทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์มักต้องทำไปตลอดชีวิต
ยาเลโวไทรอกซีนนั้นมียี่ห้อที่แตกต่างกัน อย่าเปลี่ยนยี่ห้อของยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ยาบางชนิด อย่างคอเลสไทรามีน (cholestyramine) คอเลสทิพอล (colestipol) โคลเซเวแลม (colesevelam) ยาลดกรด ซูคราลเฟต (sucralfate) ไซเมทิโคน (simethicone) ธาตุเหล็ก โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต (sodium polystyrene sulfonate) อาหารเสริมแคลเซียม ออริสแตท (orlistat) สามารถลดปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ร่างกายดูดซึม หากคุณกำลังใช้ยาเหล่านี้ ควรเว้นระยะเวลาการใช้ยาเหล่านี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมง
อาการของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ มีทั้งเหนื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องผูก ผิวแห้ง น้ำหนักเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นช้า หรือมีปฏิกิริยาไวต่ออากาศเย็น โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณมีอาการแย่ลงหรืออาการไม่หายไป หลังจากใช้ยานี้ไปแล้วหลายสัปดาห์
การเก็บรักษายา เลโวไทรอกซีน
ยาเลโวไทรอกซีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเลโวไทรอกซีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไม่ควรทิ้งยาเลโวไทรอกซีนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ Levothyroxine
ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์ทราบหาก
- คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เนื่องจากในช่วงที่คุณมีความตั้งใจหรือกำลังให้นมบุตร ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
- หากคุณกำลังใช้ยาอื่นอยู่ รวมทั้งยาที่หาซื้อได้เอง เช่น สมุนไพรหรือยาทางเลือกอื่นๆ
- หากคุณแพ้สารออกฤทธิ์หรือไม่มีฤทธิ์ในการรักษาของยาเลโวไทรอกซีน หรือยาอื่นๆ
- หากคุณมีอาการป่วย มีความผิดปกติ หรือมีสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ
หากคุณกำลังใช้ยาลดกรด แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) อย่างทัมส์ (Tums) ยาโคลเลสไทรามีน (cholestyramine) อย่างเควสทราน (Questran) ยาโคลเซเวแลม (colesevelam) อย่างเวลโชล (Welchol) ยาโคลเลสทิพอล (colestipol) อย่างโคลเลสทิด (Colestid) ธาตุเหล็ก ยาออริสแตท อย่างอัลลิ (Alli) หรือเซนิคอล (Xenical) ยาไซเมทิโคน (simethicone) อย่างฟาไซม์ (Phazyme) หรือแก็สเอ็กซ์ (Gas X) ยาเซเวลาเมอร์ (sevelamer) อย่างเรนเวลา (Renvela) หรือเรนาเจล (Renagel) โซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต อย่างคาเยซาเลต (Kayexalate) หรือยาซูคราเฟต (sucralfate) อย่างคาราเฟต (Carafate) ใช้ยานี้อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนหรือ 4 ชั่วโมงหลังจากยาเลโวไทรอกซีน
โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะหลอดเลือดแข็ง โรคไต โรคตับ หรือโรคตับอักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก โรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) ซึ่งเป็นสภาวะที่มีการสะสมของสารผิดปกติภายในเลือดและทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับผิวหรือระบบประสาท โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง เจ็บเค้นหน้าอก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวาย ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไต หรือภาวะขาดฮอร์โมนต่อมใต้สมอง หรือสภาวะที่ทำให้คุณกลืนได้ยากขึ้น
โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือหากคุณกำลังให้นมบุตร หากคุณตั้งครรภ์ขณะใช้ยาเลโวไทรอกซีนโปรดติดต่อแพทย์
หากคุณรับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดทำฟัน โปรดแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยาเลโวไทรอกซีน
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้
ยาเลโวไทรอกซีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท A โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้
- A= ไม่มีความเสี่ยง
- B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C= อาจจะมีความเสี่ยง
- D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X= ห้ามใช้
- N= ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยาเลโวไทรอกซีน
รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ
โปรดติดต่อแพทย์ในทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังนี้
- หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
- เป็นไข้ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก
- นอนไม่หลับ
- ประจำเดือนมีความเปลี่ยนแปลง
- อาเจียน
- ท้องร่วง
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง
- น้ำหนักเปลี่ยนแปลง
ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป
- มีตะคริวที่ขา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดหัว
- รู้สึกประหม่าหรือหงุดหงิด
- ท้องร่วง
- ผื่นผิวหนัง
- ผมร่วงระดับเบา
ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ หรืออาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาเลโวไทรอกซีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่
- ยาแคลเซียมคาบอร์เนต (Calcium carbonate) อย่างอัลกา มินต์ (Alka-Mints) แคลเซียม ออยส์เตอร์ เชล (Calcium Oyster Shell) คาลเทรต (Caltrate) ออสคาล (Os-Cal) ออยส์เตอร์ เชล แคลเซียม (Oyster Shell Calcium) โรเลด ซอฟท์ ชิว (Rolaids Soft Chew) ทัมส์ (Tums) และอื่นๆ
- คอเลสไทรามีน (Cholestyramine) คอเลสทิพอล (colestipol)
- อาหารเสริมธาตุเหล็กเฟอรัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate iron supplement)
- ซูคราลเฟต (Sucralfate)
- ยาโซเดียม พอลิสไตรีน ซัลโฟเนต (Sodium polystyrene sulfonate) อย่างเคลเซต (Kalexate) คาเยซาเลต (Kayexalate) คิโอเน็กซ์ (Kionex)
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม – เอซิด กอน (Acid Gone) กาวิสคอน (Gaviscon) มารร์ลอกซ์ (Maalox) มิลค์ ออฟ แมกนีเซีย (Milk of Magnesia) มินทอกซ์ (Mintox) ไมแลนตา (Mylanta) เพพซิด คอมพรีท (Pepcid Complete) และอื่นๆ
ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาเลโวไทรอกซีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น
ยาเลโวไทรอกซีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ
โรคที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่
- ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal gland insufficiency)
- หัวใจวายเฉียบพลันหรือเพิ่งเกิดขึ้น
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไต
- ภาวะโลหิตจางอย่างร้าย
- อาการเจ็บเค้นหน้าอก
- ปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือด
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ปัญหาเกี่ยวกับอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
- โรคกระดูกพรุน
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมใต้สมอง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาแคปซูล
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาเลโวไทรอกซีนสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์ – รับประทาน
ขนาดยาเริ่มต้นคือ 12.5 ถึง 50 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง สามารถเพิ่มขนาดยาขึ้นไป 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัม/วัน เพิ่มขึ้นทุกๆ 2 ถึง 4 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยอายุน้อย ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเพิ่มขนาดยาในขนาด 12.5 ถึง 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 3 ถึง 6 สัปดาห์
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อการกดฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH Suppression) – รับประทาน
ขนาดยาเริ่มต้นคือ 50 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง อาจเพิ่มขนาดยาในขนาด 25 ถึง 50 ไมโครกรัม ทุกๆ 2 ถึง 4 สัปดาห์ ขนาดยาปกติโดยทั่วไปคือ 100 ถึง 200 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อการทดสอบกดไทรอยด์ (Thyroid Suppression Test) – รับประทาน
2.6 ไมโครกรัม/กก./วัน เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำอย่างรุนแรง (Myxedema Coma)
ขนาดยาเริ่มต้น 300 ถึง 500 ไมโครกรัม ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำทันทีหนึ่งครั้ง
ขนาดยาเลโวไทรอกซีนสำหรับเด็ก
ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาภาวะขาดไทรอยด์
ภาวะขาดไทรอยด์แต่กำเนิด
ทารกแรกเกิด
- รับประทาน 10 ถึง 15 ไมโครกรัม/กก./วัน หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจล้มเหลว ควรเริ่มต้นใช้ยาในขนาดที่ต่ำกว่านี้ ในกรณีรุนแรงของภาวะขาดไทรอยด์ (ค่า T4 น้อยกว่า 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร) อาจพิจารณาใช้ขนาดยาสูงกว่าที่ขนาด 12 ถึง 17 ไมโครกรัม/กก./วัน
- ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ 50% ถึง 75% ของขนาดยาแบบรับประทาน
อายุ 0 ถึง 3 เดือน
- 10 ถึง 15 ไมโครกรัม/กก. รับประทานวันละครั้ง หากทารกมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว ให้ใช้ขนาดยาเริ่มต้นในขนาดต่ำกว่าประมาณ 25 ไมโครกรัม/วัน หากระดับเซรั่ม T4 เริ่มต้นนั้นต่ำมาก (น้อยกว่า 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร) ให้เริ่มการรักษาในขนาดสูงกว่าที่ประมาณ 50 ไมโครกรัม/วัน
อายุ 3 ถึง 6 เดือน
- 8 ถึง 10 ไมโครกรัม/กก. หรือ 25 ถึง 50 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
อายุ 6 ถึง 12 เดือน
- 6 ถึง 8 ไมโครกรัม/กก. หรือ 50 ถึง 75 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
อายุ 1 ถึง 5 ปี
- 5 ถึง 6 ไมโครกรัม/กก. หรือ 75 ถึง 100 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
อายุ 6 ถึง 12 ปี
- 4 ถึง 5 ไมโครกรัม/กก. หรือ 100 ถึง 125 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
อายุ 12 ปี
- 2 ถึง 3 ไมโครกรัม/กก. หรือมากกว่าหรือเท่ากับ150 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง
ผู้ป่วยที่เจริญเติบโตและเจริญพันธุ์อย่างสมบูรณ์ 1.7 ไมโครกรัม/กก. วันละครั้ง
สำหรับภาวะขาดไทรอยด์เรื้อรังหรือรุนแรง 25 ไมโครกรัม รับประทานวันละครั้ง และเพิ่มขนาดยาเท่าที่จำเป็นในขนาด 25 ไมโครกรัม ทุกๆ 2 ถึง 4 สัปดาห์ จนได้รับผลที่ต้องการ
รูปแบบของยา
ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้
- ยาสำหรับฉีด
- ยาเม็ด
กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา