ไรซาทริปแทน (Rizatriptan) ใช้เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน รวมไปถึงการบรรเทาอาการอื่น ๆ จากไมเกรน อาทิ อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการแพ้แสงและเสียง
ข้อบ่งใช้
ไรซาทริปแทน ใช้สำหรับ
ไรซาทริปแทน (Rizatriptan) ใช้เพื่อรักษาโรคไมเกรน ยานี้ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว อาการปวด และอาการของโรคไมเกรนอื่น ๆ (คลื่นไส้ อาเจียน แพ้แสง แพ้เสียง) การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาจจะลดความจำเป็นในการใช้ยาอื่นได้ ยาไรซาทริปแทนอยู่ในกลุ่มของยาทริปแทน (triptans) ซึ่งจะส่งผลต่อสารเซโรโทนินตามธรรมชาติ (serotonin) ที่ทำให้หลอดเลือดในสมองแคบลง ยานี้ยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดโดยการส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทบางชนิดภายในสมอง
ยา ไรซาทริปแทน ไม่ได้ป้องกันการเกิดไมเกรนล่วงหน้า และไม่ได้ช่วยลดจำนวนครั้งในการกำเริบของโรคไมเกรน
วิธีการใช้ยาไรซาทริปแทน
รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดเมื่อเริ่มมีสัญญาณของโรคไมเกรน คุณสามารถรับประทานรับประทานยาพร้อมกับหรือปราศจากอาหารก็ได้ แต่ยานี้จะทำงานได้ดีกว่าหากใช้ตอนท้องว่าง ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ อายุ การตอบสนองต่อการรักษา และยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ สำหรับเด็กนั้นขนาดยายังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวอีกด้วย โปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ)
หากอาการไม่ดีขึ้น อย่าใช้ยาเพิ่มอีกจนกว่าจะปรึกษากับแพทย์แล้ว หากอาการของคุณดีขึ้นแค่บางส่วนหรือหากกลับมาปวดหัวอีกครั้ง ผู้ใหญ่อาจจะรับประทานยาได้อีกครั้งหลังจากใช้ยาครั้งแรกผ่านไปอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เด็กไม่ควรใช้ยามากกว่าหนึ่งครั้ง หรือ 5 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับผู้ใหญ่นั้น ขนาดยาสูงสุดที่ผู้ผลิตที่สหรัฐอเมริกาแนะนำคือ 30 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดที่ผู้ผลิตที่แคนาดาแนะนำคือ 20 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง
หากคุณมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แพทย์อาจตรวจหัวใจก่อนเริ่มใช้ยาไรซาทริปแทน และอาจสั่งให้คุณใช้ยานี้ครั้งแรกที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่รุนแรง (เช่น เจ็บหน้าอก) โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
หากคุณกำลังใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการไมเกรนกำเริบเดือนละ 10 วันขึ้นไป ยานี้อาจจะทำให้อาการปวดหัวแย่ลงไปอีกกว่าเดิม (อาการปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด) อย่าใช้ยานี้บ่อยกว่าหรือนานกว่าที่กำหนด โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณต้องใช้ยานี้บ่อยกว่ากำหนด หากยาไม่ได้ผลแล้ว หรือหากอาการปวดหัวแย่ลง
การเก็บรักษายา ไรซาทริปแทน
ควรเก็บรักษา ยาไรซาทริปแทน ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาไรซาทริปแทนบางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย
ไม่ควรทิ้งยาซูมาทริปแทนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร
ข้อควรระวังและคำเตือน
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไรซาทริปแทน
ก่อนใช้ยาไรซาทริปแทนโปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยาซูมาทริปแทน แพ้ต่อยาอื่น หรือมีอาการแพ้อื่น ๆ รวมถึงการแพ้ส่วนผสมไม่ออกฤทธิ์ของยาซูมาทริปแทน โปรดสอบถามเภสัชกรสำหรับรายชื่อส่วนผสมที่ไม่ออกฤทธิ์ และข้อมูลเพิ่มเติม
ก่อนใช้ยานี้โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพา
- ปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด (เช่น ที่บริเวณขา แขน มือ กระเพาะอาหาร)
- อาการปวดศีรษะบางประเภท เช่น โรคไมเกรนแบบอัมพฤษกษ์ครึ่งซีก (hemiplegic migraine) หรือโรคไมเกรนส่วนฐานกระโหลกศีรษะ (basilar migraine)
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ (เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ เคยมีอาการหัวใจวาย)
- โรคตับ
- อาการชัก
- โรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack)
สภาวะบางอย่างอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีสภาวะดังต่อไปนี้
- ความดันเลือดสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคเบาหวาน
- คนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- น้ำหนักเกิน
- สูบบุหรี่
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี
ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกัญชานั้นอาจทำให้อาการวิงเวียนหรือง่วงซึมรุนแรงขึ้นได้ ฉะนั้น อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัวจนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปรึกษาแพทย์หากคุณใช้กัญชา
ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่าง ๆ
ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคตับ และความดันเลือดสูงนั้นจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ผู้สูงอายุอาจมีปฏิกิริยาไวกว่าต่อผลข้างเคียงของยานี้ โดยเฉพาะอาการความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
หากอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ตามแพทย์สั่งภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และโปรดปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงของใช้ยา
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาไรซาทริปแทนสามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมหรือไม่ หากใช้ยานี้ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้
ยาคีโตโปรเฟนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)
การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้
- A = ไม่มีความเสี่ยง
- B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
- C = อาจจะมีความเสี่ยง
- D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
- X = ห้ามใช้
- N = ไม่ทราบแน่ชัด
ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงของการใช้ยาไรซาทริปแทน
อาจเกิดอาการหน้าแดง รู้สึกเป็นเหน็บชา ซ่า หรือร้อน เหนื่อยล้า อ่อนแรง ง่วงซึม หรือวิงเวียน หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือรุนแรงขึ้นโปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
โปรดจำไว้ว่าการที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายามีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใด ๆ
ยานี้อาจจะเพิ่มระดับความดันโลหิตได้ ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำและแจ้งให้แพทย์ทราบหากค่าความดันโลหิตออกมาสูงเกินปกติ
แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ได้แก่
- นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือเล็บม่วง
- อาการเย็นที่มือและเท้า
- การได้ยินเปลี่ยนแปลง
- จิตใจและอารมณ์เปลี่ยนแปลง
ยาไรซาทริปแทนสามารถทำให้เกิดอาการแน่น ปวด หรือแรงดันที่บริเวณหน้าอก กราม หรือคอได้ แม้อาการเหล่านี้จะไม่อันตราย แต่ก็คล้ายกับอาการของโรคหัวใจวายซึ่งมีทั้งอาการปวดหน้าอก กราม หรือแขนซ้าย หายใจลำบาก หรือเหงื่อออกผิดปกติ ฉะนั้น โปรดเข้ารับการรักษาทันทีหากเกิดอาการเหล่านี้หรือหากเกิดอาการอื่นที่รุนแรงดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
- หมดสติ
- ปวดท้องรุนแรง
- ท้องเสียเป็นเลือด
- สัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง (เช่น อ่อนแรงที่ด้านหนึ่งของร่างกาย พูดลำบาก การมองเห็นเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน สับสน)
ยานี้อาจเพิ่มระดับของสารเซโรโทนิน และในกรณีหายากอาจทำให้เกิดสภาวะที่รุนแรงมากอย่างกลุ่มอาการเซโรโทนิน (serotonin syndrome) หรือเซโรโทนินเป็นพิษ (serotonin toxicity) ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นหากคุณใช้ยาอื่นที่สามารถเพิ่มระดับของเซโรโทนินได้ ฉะนั้น โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (อ่านเพิ่มเติมในส่วนปฏิกิริยาของยา) เข้ารับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการดังต่อไปนี้
- หัวใจเต้นเร็ว
- มองเห็นภาพหลอน
- สูญเสียการเคลื่อนไหวที่สอดประสาน
- วิงเวียนอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องร่วงรุนแรง
- กล้ามเนื้อกระตุก
- เป็นไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้
- ร้อนรนหรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้
- ผดผื่น
- คันหรือบวม (โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ)
- วิงเวียนขั้นรุนแรง
- หายใจติดขัด
ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร
ปฏิกิริยาของยา
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ปฏิกิริยากับยาอื่น
ยาไรซาทริปแทนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
การรับประทานยาตัวนี้ร่วมกับยาต้านซึมเศร้า หรือเอ็มเอโออินฮิบิเตอร์ (MAO inhibitors) (MAO inhibitors) อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาของยาที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้น อย่ารับประทานยาต้านซึมเศร้าดังต่อไปนี้ ร่วมกับยาซูมาทริปแทน และควรหยุดใช้ยาซึมเศร้าอื่น ๆ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาซูมาทริปแทน แต่ห้ามหยุดกินยาเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- ยาไซโซคาร์โบซาซิด (isocarboxazid)
- ยาลิเนโซลิด (linezolid)
- ยาเมทิลีนบลู (methylene blue)
- ยาโลโคลเบไมด์ (moclobemide)
- ยาฟีเนลซีน (phenelzine)
- ยาโพรคาร์เบซีน (procarbazine)
- ยาราซาจิลีน (rasagiline)
- ยาซาฟินาไมด์ (safinamide)
- ยาเซเลจิลีน (selegiline)
- ยาทรานีลไซโพรมีน (tranylcypromine)
ความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินหรือเซโรโทนินเป็นพิษนั้นจะเพิ่มขึ้นหากคุณใช้ยาที่อาจเพิ่มสารเซโรโทนิน เช่น
- ยาเมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (MDMA)
- ยาอี (ecstasy)
- สมุนไพรเซนต์จอห์น (St. John’s wort)
- ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด (antidepressants) เช่น
- ยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRIs) อย่าง ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) หรือพาร็อกซีทีน (paroxetine)
- ยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs) อย่าง ดูล็อกซีทีน (duloxetine) หรือเวนลาฟาซีน (venlafaxine)
หากคุณกำลังใช้ยาเออร์โกตามีน (ergotamine) เช่น ยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (dihydroergotamine) หรือยาทริปแทนอื่น ๆ เช่น ซูมาทริปแทน (sumatriptan) หรือซอลมิทริปแทน (zolmitriptan) คุณจะต้องทิ้งระยะในการใช้ยาไรซาทริปแทนและยาเหล่านี้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงที่อันตราย
ปฎิกิริยาต่ออาหารหรือแอลกอฮอล์
ยาซูมาทริปแทนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
ปฏิกิริยาต่ออาการโรคอื่น
ยาซูมาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ
ขนาดยา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม
ขนาดยาไรซาทริปแทนสำหรับผู้ใหญ่
ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคไมเกรน
ใช้ยานี้ต่อเมื่อได้การรับวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรนแล้วเท่านั้น
ขนาดยาเริ่มต้น : 5 หรือ 10 มก. รับประทานหนึ่งครั้ง
- หากมีการตอบสนองต่อยาในครั้งแรก อาจให้ยาครั้งที่สองได้หลังจากเวลาผ่านแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหากมีอาการของโรคไมเกรนกลับมาอีก
ขนาดยาสูงสุด : 30 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ขนาดยา 10 มก. อาจให้ผลได้ดีกว่า แต่ก็อาจมีมีความเสี่ยงในการเกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์มากกว่า
- ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคไมเกรนส่วนฐานกระโหลกศีรษะหรือแบบอัมพฤษกษ์ครึ่งซีกเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า
- ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยของการรักษาอาการไมเกรนกำเริบเฉลี่ย 4 ครั้งขึ้นไปภายใน 30 วัน
- ยังไม่มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพของการให้ยาครั้งที่สองหรือการให้ยาหลังจากนั้นในการทดลองแบบควบคุมโดยใช้ยาหลอก (placebo-controlled trials)
การใช้งาน
- เพื่อรักษาโรคไมเกรนเฉียบพลันโดยมีหรือไม่มีสัญญาณเตือน
การปรับขนาดยาสำหรับตับ
ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจพิจารณาปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีตับบกพร่องขั้นรุนแรง แต่ยังไม่มีแนวทางแนะนำโดยเฉพาะ
การปรับขนาดยา
ใช้ร่วมกับยาโพรพราโนลอล (PROPRANOLOL)
ผู้ใหญ่
- ขนาดยาเริ่มต้น : 5 มก. รับประทานหนึ่งครั้ง
- ขนาดยาสูงสุด : 3 ครั้ง (15 มก.) ภายใน 24 ชั่วโมง
เด็ก
- น้ำหนักน้อยกว่า 40 กก. : ไม่แนะนำให้ใช้
- น้ำหนัก 40 กก. ขึ้นไป ‘ ขนาดยาสูงสุดคือ 5 มก. ภายใน 24 ชั่วโมง
ผู้สูงอายุ
- ควรระมัดระวังการเลือกขนาดยา โดยทั่วไปแล้วควรจะเริ่มที่ขนาดต่ำ
คำแนะนำอื่น ๆ
คำแนะนำการใช้ยา
ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- สามารถรับประทานยาพร้อมกับหรือปราศจากอาหารก็ได้
ยาเม็ดแตกตัวสำหรับรับประทาน (ODT)
- แกะเม็ดยาออกจากแผงเมื่อพร้อมใช้ยา
- ใช้มือที่แห้งแกะยาแล้ววางยาไว้บนลิ้น อย่าดันให้ยาทะลุขึ้นมาจากแผงยา
- ยาจะละลายบนลิ้น คุณสามารถกลืนยาไปพร้อมกับน้ำลายโดยไม่ต้องดื่มน้ำเพิ่ม
ทั่วไป
- ควรใช้ยานี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรนเท่านั้น หากผู้ป่วยไม่มีการตอบสนอง ควรพิจารณาการวินิจฉัยโรคไมเกรนอีกครั้งก่อนรักษาอาการกำเริบครั้งถัดไป
- ยานี้ไม่ได้ใช้สำหรับการรักษาอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (cluster headaches) โรคไมเกรนส่วนฐานกระโหลกศีรษะ หรือแบบอัมพฤษกษ์ครึ่งซีก หรือใช้เพื่อป้องกันโรคไมเกรน
- สำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรทำการประเมินหัวใจและหลอดเลือดก่อนเริ่มต้นการรักษา หากผลการประเมินหัวใจและหลอดเลือดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ควรพิจารณาให้ยาครั้งแรกภายในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ทันทีหลังจากให้ยา
- อาการปวดศีรษะเนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดอาจมีอาการคล้ายกับไมเกรนหรือทำให้อาการไมเกรนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคไมเกรนเฉียบพลัน เช่น ยาเออร์โกตามีน ยาทริปแทน หรือยาโอปิออยด์ (opioids) เป็นเวลาเดือนละ 10 วันขึ้นไป ควรหยุดใช้ยาเกินขนาดและทำการรักษาอาการขาดยา
การเฝ้าระวัง
- ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังจากให้ยาครั้งแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีผลการประเมินหัวใจและหลอดเลือดน่าพึงพอใจ ควรพิจารณาทำการตรวจหัวใจและหลอดเลือดเป็นระยะ ๆ ในผู้ป่วยที่ใช้ยาระยะยาวแบบไม่ต่อเนื่องที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- เฝ้าระวังความดันโลหิต
- เฝ้าระวังกลุ่มอาการเซโรโทนิน หากต้องใช้ยาร่วมกับยาในกลุ่มเอสเอสอาร์อินฮิบิเตอร์ (SSRIs) หรือยาในกลุ่มเอสเอ็นอาร์อินฮิบิเตอร์ (SNRIs) โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นการรักษาหรือเมื่อเริ่มใช้หรือเพิ่มขนาดของยาเซโรโทเนอร์จิค (serotonergic medication)
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- ผู้ป่วยฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonurics) ควรตระหนักว่ายารูปแบบแตกตัวนั้นมีส่วนผสมของสารฟีนิลอะลานีน (phenylalanine)
- ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาหรืออาหารเสริมใหม่อื่น ๆ
- ผู้ป่วยควรทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงต่อหลอดเลือดหัวใจอย่างรุนแรงและควรรับการรักษาในทันทีหากเกิดอาการนั้นขึ้น
- ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นจากการใช้ยาครั้งแรกไม่ควรใช้ยาครั้งที่สองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์
- ผู้ป่วยควรทราบถึงโอกาสในการเกิดอาการปวดศีรษะเนื่องจากการใช้ยาเกินขนาด
- ยานี้อาจจะลดความสามารถในการตัดสินใจ การคิด หรือการขับขี่ ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือใช้เครื่องจักรจนกว่าจะทราบผลไม่พึงประสงค์ของยา
- ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
ขนาดยาไรซาทริปแทนสำหรับเด็ก
ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคไมเกรน
ใช้ยานี้ต่อเมื่อได้การรับวินิจฉัยว่าเป็นโรคไมเกรนแล้วเท่านั้น
ผู้ป่วยอายุ 6 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กก.
- ขนาดยาเริ่มต้น : 5 มก. รับประทานหนึ่งครั้ง
ผู้ป่วยอายุ 6 ปีขึ้นไปและมีน้ำหนัก 40 กก. ขึ้นไป
- ขนาดยาเริ่มต้น : 10 มก. รับประทานหนึ่งครั้ง
ขนาดยาสูงสุด : 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
คำแนะนำ
- ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคไมเกรนส่วนฐานกระโหลกศีรษะหรือแบบอัมพฤษกษ์ครึ่งซีกเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยของการรักษาอาการไมเกรนกำเริบเฉลี่ย 4 ครั้งขึ้นไปภายใน 30 วัน
- ยังไม่มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยามากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
การใช้งาน
เพื่อรักษาโรคไมเกรนเฉียบพลันโดยมีหรือไม่มีสัญญาณเตือนในผู้ป่วยที่อายุ 6 ปีขึ้นไป
ข้อควรระวัง
ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 6 ปี
รูปแบบยา
ขนาดและรูปแบบของยามีดังนี้
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
- ยาเม็ดสำหรับรับประทานรูปแบบแตกตัว
กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด
หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที
กรณีลืมใช้ยา
หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]