ความจำเสื่อม (Amnesia) เป็นภาวะสูญเสียความทรงจำ โดยเป็นการสูญเสียข้อมูล ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ส่วนตัว ความจำเสื่อมในขั้นรุนแรง อาจส่งผลต่อความสามารถในการสร้างความทรงจำใหม่ อาการความจำเสื่อม อาจเกิดขึ้นทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร
คำจำกัดความ
ความจำเสื่อม คืออะไร
ความจำเสื่อม (Amnesia) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มอาการความจำเสื่อม (Amnesic Syndrome) เป็นภาวะสูญเสียความทรงจำ โดยเป็นการสูญเสียข้อมูล ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ส่วนตัว มีภาวะสุขภาพหลายประการที่ทำให้เกิดความจำเสื่อม เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง ศีรษะบาดเจ็บ
ความจำเสื่อมในขั้นรุนแรง อาจส่งผลต่อความสามารถในการสร้างความทรงจำใหม่ อาการความจำเสื่อม อาจเกิดขึ้นทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคพื้นเดิมที่เป็นสาเหตุของความจำเสื่อมเสียก่อน
ความจำเสื่อมพบได้บ่อยแค่ไหน
ความจำเสื่อมเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป มักเกิดจากภาวะสุขภาพและโรคต่าง ๆ เช่น ศีรษะบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงบางประการที่ก่อให้เกิดอาการความจำเสื่อมได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาการชัก การผ่าตัดสมอง โดยภาวะความจำเสื่อมสามารถส่งผลได้ต่อทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่มักส่งผลต่อผู้หญิงได้มากกว่า
อาการ
อาการของความจำเสื่อม
อาการหลัก ๆ ของภาวะความจำเสื่อม คือ การสูญเสียความทรงจำ หรือความสามารถในการสร้างความทรงจำใหม่ ขณะที่ทักษะการรับรู้ และทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ มักไม่ได้รับผลกระทบ หมายความว่า ผู้ป่วยจะยังสามารถจดจำการเดิน และการพูดภาษาต่าง ๆ ได้ อาการความจำเสื่อมมีหลายประเภท ดังต่อไปนี้
- ความจำเสื่อมย้อนหลัง (Retrograde amnesia) เกิดขึ้นเมื่อคุณสูญเสียความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ และความทรงจำในวัยเด็ก ผลมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ มีภาวะสุขภาพหลายประการที่สามารถทำให้เกิดความจำเสื่อมย้อนหลังได้ เช่น โรคสมองเสื่อม
- ความจำเสื่อมไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) เกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้ ผลมักเกิดขึ้นชั่วคราว แต่ก็สามารถส่งผลถาวรได้เช่นกัน สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจนหมดสติ สาเหตุที่เป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำ
- ความจำเสื่อมชั่วคราว (Transient global amnesia หรือ TGA) เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำก่อนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทำให้เกิดความมึนงง และภาวะกายใจไม่สงบ สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญบางรายกล่าวว่า อาการคล้ายการชัก หรือภาวะหลอดเลือดตีบตันชั่วคราว อาจเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้ ความจำเสื่อมประเภทนี้พบในวัยกลางคน และผู้สูงอายุบ่อยที่สุด
อาการความจำเสื่อมแตกต่างจากโรคสมองเสื่อม กล่าวคือ ความจำเสื่อมทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำ แต่ไม่ทำให้เกิดความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (cognitive impairment) หมายความว่า ผู้ป่วยยังสามารถจดจำได้ว่าตัวเองเป็นใคร รวมทั้งยังจำปี และเวลาได้ อาการอื่น ๆ ของอาการความจำเสื่อม ได้แก่ ความทรงจำที่ผิดพลาด อาการมึนงง หรือความสับสน
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากมีอาการใด ๆ ดังต่อไปนี้ ควรติดต่อแพทย์ทันที
- มีการสูญเสียความทรงจำโดยไม่ทราบสาเหตุ ศีรษะบาดเจ็บ มีอาการมึนงง หรือความสับสน
- พบว่าตัวเองไม่สามารถจดจำตำแหน่งที่อยู่ได้
หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของความจำเสื่อม
ความจำเสื่อมมีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ภาวะสุขภาพ หรืออาการบาดเจ็บที่สมอง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถทำให้ความจำเสื่อม เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผลจากการบาดเจ็บ ต่อไปนี้เป็นสาเหตุที่เป็นไปได้บางประการของความจำเสื่อม
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) ซึ่งเป็นการอักเสบที่สมองที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อ Herpes Simplex Virus
- ภาวะ Paraneoplastic limbic encephalitis ซึ่งเป็นการอักเสบที่สมองที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองต่อมะเร็ง
- ภาวะขาดออกซิเจน (Anoxia) คือ สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มักเกิดจากภาวะต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย (Heart attack) การหายใจลำบากอย่างรุนแรง (respiratory distress) พิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon monoxide poisoning)
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไปเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินบี 1 (vitamin B-1 deficiency)
- เนื้องอกในบริเวณต่าง ๆ ของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความทรงจำ เช่น สมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (hippocampus)
- โรคสมองเสื่อม (Degenerative brain diseases) เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคสมองเสื่อมรูปแบบอื่น
- อาการชัก (Seizures)
- ยาบางชนิด เช่น ยาเบนโซไดอาเซปีน (benzodiazepines) ที่ใช้รักษาอาการกังวล และอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของความจำเสื่อม
มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับความจำเสื่อมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดสมอง
- อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- เหตุการณ์ที่มีการบาดเจ็บหรือแรงกดทับ
- อาการชัก
หากรู้สึกว่าอาจมีความเสี่ยงในการเกิดความจำเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางในการจัดการความเสี่ยง
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการความจำเสื่อม
เพื่อวินิจฉัยความจำเสื่อมอย่างเหมาะสม แพทย์จะทำการทดสอบต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้สำหรับการสูญเสียความทรงจำ เช่น โรคอัลไซเมอร์ ภาวะซึมเศร้า นื้องอกในสมอง การทดสอบดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
- การซักประวัติสุขภาพ ได้แก่ การถามคำถามเพื่อวัดความรุนแรงของการสูญเสียความทรงจำ และสิ่งกระตุ้น หรือสาเหตุที่เป็นไปได้
- การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจปฏิกิริยาตอบสนองฉับพลัน หน้าที่เกี่ยวกับรับความรู้สึกเข้าไปในระบบประสาท ความสมดุล และการตอบสนองทางสรีรวิทยาอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการทำงานของสมอง และระบบประสาทที่เหมาะสม
- การทดสอบการรับรู้ เป็นการวัดการคิด การตัดสินใจ และความทรงจำในปัจจุบัน และในระยะยาว การทดสอบนี้ ยังสามารถช่วยระบุความรุนแรงของการสูญเสียความทรงจำได้ด้วย
- การทดสอบเชิงวินิจฉัย ได้แก่ การทดสอบ MRI และ CT scan เพื่อตรวจหาความเสียหาย หรือความผิดปกติใด ๆ ในสมอง
สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนของผู้ป่วยควรพูดคุยกับแพทย์ด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์ทำการประเมินอาการได้ดีขึ้น หากผู้ป่วยไม่สามารถตอบคำถามที่จำเป็นได้ทั้งหมด
การรักษาอาการความจำเสื่อม
ไม่มีการรักษาหรือยาเฉพาะสำหรับอาการความจำเสื่อม แต่สามารถจัดการได้ดังต่อไปนี้
- พบนักบำบัดวิชาชีพเพื่อเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ สำหรับการฝึกฝนความทรงจำ นักบำบัดอาจใช้ภาพถ่าย กลิ่นที่คุ้นเคย และดนตรี เพื่อกระตุ้นความทรงจำของผู้ป่วย
- หากผู้ป่วยมีกลุ่มอาการ Wernicke-Korsakoff Syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางสมองที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 การรักษามักทำโดยการชดเชยวิตามินและสารอาหารที่เหมาะสม กลุ่มอาการ Wernicke-Kosakoff Syndrome เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้เกิดภาวะขาดไทอามีน (Thiamine) นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องขับสารพิษจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดออกจากร่างกายด้วย
- สามารถใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์แอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อเตือนเกี่ยวกับการนัดหมายที่สำคัญ หรือกำหนดการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยจดจำและบันทึกรายการกิจกรรมรายวันต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับภาวะความจำเสื่อม
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยรับมือกับภาวะความจำเสื่อมได้
- จดบันทึกอาการผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้น
- จดบันทึกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ ซึ่งรวมทั้งความเครียดหรือความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่สามารถนึกได้ และขอให้สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน ช่วยดูว่ารายการที่จดบันทึกมีความครบถ้วนหรือไม่
- ทำรายการยาทั้งหมดที่ใช้อยู่ ซึ่งรวมทั้งวิตามินและอาหารเสริมต่าง ๆ
- ขอให้สมาชิกในครอบครัวไปปรึกษาแพทย์ด้วยกัน
- พกสมุดโน้ต ปากกา หรือดินสอ เพื่อจดประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องการจะจดจำ
- จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-bmi]